วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2555

นานาสัตว์ในสำนวนไทย ถ้าเจอเสือต้องใจดีสู้เสือ

นำมาใช้ในสำนวนเสือสิ้นตวัก สุนัขจนตรอกซึ่งหมายถึงคนที่ฮึดสู้จนสุดฤทธิ์ และยังนำเล็บเสือมากล่าวถึงในสำนวน ถอดเขี้ยวถอดเล็บหมายถึง ละทิ้งลักษณะเก่งกาจหรือร้ายกาจที่มีอยู่ประจำตัวไม่แสดงลักษณะดังกล่าวอีกต่อไป

ความช่างสังเกตของคนไทย ที่สังเกตเห็นอากัปกิริยาของเสือ จึงนำมาเปรียบเทียบในสำนวนต่างๆ ไว้มากมาย เป็นข้อคิดข้อเตือนใจในการดำเนินชีวิต พูดไทยเขียนไทยฉบับนี้อักษราขอปิดท้ายจบจบตอนสำนวนไทยที่เกี่ยวข้องกับเสือ สัตว์สัญลักษณ์ปีขาล
อาการหิวเป็นอากัปกิริยาอย่างหนึ่งของเสือที่สังเกตได้ เช่น เวลาเสือหิวมันจะล่าเหยื่ออย่างมุ่งมั่น ไม่ว่าอะไรผ่านมาก็ล่าทั้งนั้น สำนวนว่า เสือหิวจึงหมายถึงอยากได้ไปหมดอยากได้ตลอดเวลา
เมื่อเสือได้เหยื่อมาแล้วหรือแย่งมาจากตัวอื่นก็ตามมันจะลากไปนอนกิน มองเผินๆ เหมือนกินอย่างสบายอารมณ์ สำนวน เสือนอนกินจึงหมายความว่ามีส่วนได้ มีรายได้ในกิจการหรืองานใดๆ เพราะตนเองมีอิทธิพลเข้าไปควบคุมเฉยๆ โดยไม่ต้องทำงาน เป็นการรับผลประโยชย์หรือผลกำไรอย่างง่ายๆ อย่างสะดวกสบายโดยไม่ต้องลงแรง
ยังมีสำนวนอีกสำนวนหนึ่งซึ่งมีความหมายคล้ายกันในแง่ของการได้ประโยชน์ แต่ใช้ในสถาณการณ์ต่างกัน คือสำนวนว่า จับเสือมือเปล่าเนื่องจากเสือเป็นสัตว์มีเขี้ยวเล็บและดุร้าย การจับเสือจึงต้องมีอาวุธและอุปกรณ์ในการจับ แต่ถ้าเราร่วมเดินทางไปจับเสือกับผู้อื่นโดยไปตัวเปล่าไม่นำสิ่งใดไปเลย พอเขาจับเสือกันได้ก็ได้ชื่อว่าร่วมจับกับเขาด้วย สำนวนว่า จับเสือมือเปล่าจึงหมายถึงแสวงหาผลประโยชน์โดยตนเองไม่ได้ลงทุนแต่อาจลงแรงบ้าง ไม่ได้อยู่เฉยๆ โดยใช้แต่เพียงบารมีหรืออิทธิพล และคอยรับผลประโยชน์อย่างเดียวอย่างเสือนอนกิน
กาญจนาคพันธุ์ นักปราชญ์ทางภาษาได้กล่าวถึงตำราท่ารำโบราณว่า มีท่ารำชื่อ เมขลาล่อแก้วกลางอัมพร กินนรเลียบถ่ำ หนังหน้าไฟ เสือทำลายห้าง ช้างทำลายโรง โจงกระเบนตีเหล็ก...กาญจนาคพันธุ์สันนิษฐานว่า สำนวน เสือทลายห้าง ช้างทลายโรงอาจมีที่มาจากท่ารำในตำราเล่มนี้ คำว่า ห้างในสำนวนนี้น่าจะเป็นสถานที่ที่มีการนำไม้มาขัดไว้บนต้นไม้ใหญ่ในป่าไว้สำหรับคอยเฝ้าดูเหตุการณ์หรือดักยิงสัตว์ การทำลาย ห้างได้ คงต้องออกแรงกระโจนเต็มที่ สำนวนว่า เสือทลายห้าง ช้างทลายโรงจึงหมายถึงคนที่แสดงกิริยาเอะอะตึงตัง โครมคราม หรือมีกิริยาลุกลี้ลุกลนไม่เรียบร้อย
เนื่องจากเสือเป็นสัตว์ดุร้าย เป็นสัตว์ที่เก่ง โดยปริยายจึงเรียกคนเก่ง คนดุร้าย ว่าเป็น เสือและเรียกโจรที่เก่งและดุร้ายว่าไอ้เสือการเหยียบถิ่นเสือ จึงหมายถึงเข้าไปในถิ่นนักเลง ส่วนสำนวนว่า เสือเก่าหมายถึงคนที่เคยมีฝีมือมาก่อน และสำนวนว่า ลบลายเสือก็หมายถึงเอาชนะผู้ที่มีฝีไม้ลายมือนั่นเอง ฝีมือในที่นี้มักใช้ในความหมายของนักเลงเสียเป็นส่วนใหญ่ และเป็นการมองในแง่ของความเก่งกล้าผนวกกับความดุร้าย ไม่ว่าเสือจะเก่งจะดุร้ายสักเพียงใดก็ต้องมีเวลาสิ้นฤทธิ์ สำนวนว่า เสือจนท่า ข้าจนทางจึงหมายความว่าไม่มีทางเลือก หมดทางไป และเมื่อเสือติดจั่น (เครื่องมือดักสัตว์รูปร้างคล้ายกรง) เสือจะเดินไปเดินมาเพื่อหาทางออก สำนวนเสือติดจั่นจึงหมายถึงคนเก่งเข้าที่คับขันหรือตกอยู่ในภาวะลำบาก บางครั้งใช้เปรียบกับกิริยาของคนที่เดินไปเดินมาในที่แคบๆ ด้วยความหงุดหงิดงุ่นง่านว่าเหมือนเสือติดจั่นก็ได้
แม้เสือจะมีพละกำลังล่าเหยื่อเก่ง แต่ก็มีบางครั้งที่ต้องอดจนผอมโซ มีการนำเอาเสือผอมโซมากล่าวไว้ในสำนวนให้เหยื่อเสือผอมเมื่อเห็นเสือผอมหิวโซคนใจดีอาจสงสารให้อาหารด้วยความกรุณา พอเสือมีกำลังขึ้น สัญชาตญาณของสัตว์กินเนื้อก็มองเห็นคนเป็นเหยื่ออันโอชะ สำนวนให้เหยื่อเสือผอมจึงเป็นการเตือนสติผู้ที่ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูคนพาลสันดานหยาบว่า พอเขามีกำลังขึ้นมาก็คิดทำร้ายเอาได้ หรือสรุปง่ายๆ ก็คือ ทำคุณแก่คนพาลจะเป็นผลร้ายแก่ตนเอง มีอีกสำนวนหนึ่งที่เกี่ยวกับเสือผอม (โซ) ก็คือสำนวนว่า เข้าผลักเสือผอมหมายถึงทำอวดเก่งกับผู้ไม่มีทางสู้ เพราะเสือผอมเป็นเสือที่ไม่มีแรง บางครั้งมีการพูดเตือนสติเป็นคำคล้องจองกันว่าคนล้มอย่าคร่อม เสือผอมอย่าผลักเป็นการเตือนไม่ให้ซ้ำเติมผู้ที่พลาดพลั้งไม่มีทางสู้ เพราะสักวันหนึ่งเขาอาจฟื้นตัวขึ้นมาก็ได้
เสือกับจระเข้ เป็นสัตว์ที่คนสมัยก่อนนำมาเป็นสำนวนเปรียบเทียบกันอยู่หลายสำนวน อาจเป็นเพราะว่าเสือได้ชื่อว่าเป็นสัตว์บกที่ดุร้าย ส่วนจระเข้เป็นสัตว์ดุร้ายที่อยู่ได้ทั้งในน้ำและบนบก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในน้ำด้วยแล้ว จระเข้นับว่าเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่น่ากลัวอย่างยิ่งทีเดียว การอยู่ตรงปากเสือปากจระเข้นับว่าเป็ฯภาวะที่น่ากลัวอย่างยิ่งทีเดียวเพราะอาจถูกงับได้ตลอดเวลา สำนวนว่า ปากเสือปากจระเข้จึงหมายถึงท่ามกลางอันตราย ในทำนองเดียวกัน สำนวนว่าหนีเสือปะจระเข้จึงหมายถึงหนีภัยอย่างหนึ่งแต่กลับมาพบภัยอีกอย่างหนึ่ง เป็นการหนีไปพบกับภัยอันตรายพอๆ กับของเดิม
ดังที่ทราบแล้วว่า เสือเป็นสัตว์บก การถ่อแพไล่เสือจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ส่วนจระเข้แม้จะอยู่บนบกได้ แต่เมื่อลงน้ำก็คล่องแคล่ว การถ่อเรือไล่จระเข้จึงเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก สำนวนว่าถ่อแพไล่เสือ ถ่อเรือไล่จระเข้จึงหมายถึงทำสิ่งที่ไม่อาจทำให้สำเร็จได้โดยง่าย
สำนวนที่เกี่ยวกับเสือและจระเข้ยังมีอีกสำนวนหนึ่งคือเลี้ยงลูกเสือลูกจระเข้เมื่อลูกเสือลูกจระเข้ยังเล็กอยู่ อาจดูน่ารักและไม่มีพิษสง แต่พอโตขึ้นผู้เลี้ยงอาจเดือดร้อน เพราะเสือและจระเข้เป็นสัตว์ที่มีธรรมชาติดุร้าย ไม่มีใครเลี้ยงเสือและจระเข้ให้เชื่องตลอดไปได้ สำนวนว่า เลี้ยงลูกเสือลูกจระเข้นี้จึงหมายถึงเลี้ยงเด็กที่มีสันดานชั่วร้าย พอเด็กนั้นโตขึ้นผู้เลี้ยงอาจได้รับความเดือดร้อนหรือมีเรื่องร้ายมาถึงตัวเองก็ได้ นอกจากนั้น สำนวนนี้ยังอาจหมายถึงการเลี้ยงลูกของคนไม่ดีพอเด็กโตขึ้นก็มักมีอุปนิสัยใจคอไม่ดีตามพ่อแม่ คนที่เลี้ยงจึงต้องได้รับความลำบาก
เมื่อไปสวนสัตว์ จะเห็นว่าคนเลี้ยงนำอาหารจำพวกเนื้อสัตว์มาเลี้ยงเสือ เพราะเสือเป็นสัตว์กินเนื้อ แต่ถ้าอยู่ตามธรรมชาติเสือจะล่าเหยื่อเอง จึงเกิดสำนวนว่า ชาติเสือจับเนื้อกินเองหมายถึงการมีศักดิ์ศรีไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น นอกจากจะมองว่าเสือมีศักดิ์ศรีแล้ว คนโบราณยังมองเสือว่าเป็นสัตว์ที่มีสัญชาตญาณมีไหวพริบในการเอาตัวรอด สำนวนว่าเสือรู้จึงหมายถึงคนที่มีไหวพริบ ฉลาดรู้เท่าทัน รู้รักษาตัวรอด ไม่เพลี้ยงพล้ำง่ายๆ มักใช้กับคนที่เป็นนักเลงเก่งกล้า เมื่อเราจำเป็นต้องสู้กับเสือ หมายถึงต้องต่อสู้กับสัตว์ที่น่ากลัวและเป็นอันตราย แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องรวบรวมความกล้าเพื่อเผชิญกับมัน สำนวนว่าใจดีสู้เสือจึงหมายถึงทำใจให้เป็นปกติไม่ตื่นเต้นหวาดกลัวจนเกินไปเมื่อต้องเผชิญกับสิ่งที่น่ากลัว

ไม่มีความคิดเห็น: