วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2555

นานาสัตว์ในสำนวนไทย อย่าเอาไม้ไปแหย่เสือ

เสือเป็นสัตว์ดุร้าย จึงมีสำนวนเตือนสติไว้ว่าอย่าเอาไม้ไปแหย่เสือหมายถึง อย่าอุตริไปสะกิดคนดุร้าย หรือไปทำอะไรให้เขาไม่พอใจ เพราะอาจเกิดอันตรายได้ เช่นเดียวกับสำนวนเชิงเตือนที่ว่า อย่าขี่เสือเล่นซึ่งมีความหมายทำนองเดียวกันคือ อย่าล้อเล่นกับสิ่งที่เป็นอันตราย สำนวนที่มีความหมายคล้ายคลึงกันอีกสำนวนหนึ่งคือ ไม่รู้จักเสือเอาเรือเข้ามาจอด ไม่รู้จักมอดเอาเรือเข้ามาขวางหากพิจารณาตามตัวอักษรก็คือ เมื่อพายเรือไปและแวะจอดบริเวณที่เป็นป่าโดยไม่รู้ว่าบริเวณนี่นมีเสืออาศัยอยู่อาจโดนเสือกัดได้ เช่นเดียวกับตัวมอดซึ่งเป็นแมลงขนาดเล็กชอบเกาะและกัดกินวัสดุต่างๆ โดยเฉพาะไม่จนเป็นรูพรุนไปหมด ถ้าเอาไม้ไปวางบริเวณที่มอดอาศัยอยู่ ไม้ก็เป็นอาหารอันโอชะของมอดเช่นกัน สำนวนนี้บางทีก็ใช้ว่าไม่รู้จักเสือเอาเรือเข้ามาจอด ไม่รู้จักมอกเอาไม้มาแหย่ซึ่งทั้งสองสำนวนหมายถึงทำสิ่งที่ไม่รู้ จะมีภัยเกิดขึ้นแก่ตนเอง เมื่อสัตว์ที่ดุร้ายเช่นเสือนอนหลับ แม้ดูภายนอกจะเห็นว่าไม่มีพิษสง แต่เสือก็ยังคงเป็นเสือ ความดุร้ายของเสือยังคงมีอยู่ในตัวของมัน จึงมีสำนวนว่าเสือนอนว่าเสือกลัวซึ่งพูดเป็นถ้อยคำธรรมดาให้เข้าใจได้ง่ายๆ ว่าเสือนอนหลับอย่าคิดไปว่าเสือกลัว เป็นการเตือนสติว่า ผู้ที่ทำท่าสงบเสงี่ยมดูเหมือนไม่มีพิษสงก็อาจทำร้ายเอาได้ นอกจากนั้นยังมีสำนวนไทยที่เตือนไว้ว่า เสือนอนอย่าเอาไม้ไปแหย่และอย่าแหย่เสือหลับหมายถึง อย่าก่อเรื่องกับผู้ดุร้ายหรือผู้มีอำนาจ เพราะแม้ภายนอกจะดูสงบนิ่ง แต่ถ้าผู้นั้นโกรธหรือไม่พอใจขึ้นมาก็สามารถทำร้ายหรือทำให้เกิดอันตรายแก่เราได้ ยิ่งถ้าเสือไม่ได้นอนหรือไม่ได้หลับ ถ้าเอาไม้ไปแหย่เข้าก็ยิ่งเกิดอันตรายได้ง่ายขึ้น จึงมีสำนวนว่า เอาไม้ไปแหย่เสือหมายถึง ล้อเล่นกับสิ่งที่เป็นอันตราย แม้ไม่ได้เป็นสำนวนเชิงห้ามปรามเหมือนสำนวนต้นๆ แต่ก็เป็นการเตือนให้ตระหนกถึงภัยที่กำลังจะเกิดขึ้นเช่นกัน
สำนวนว่า ชาติเสือไม่ทิ้งลายตีความได้ทั้งในทางที่ดีและไม่ดี ในทางไม่ดีมุ่งไปที่ความดุร้ายและความร้ายกาจของเสือ จึงหมายถึง ผู้ที่เคยเกะกะเกเรเป็นอันธพาลก็ย่อมต้องเป็นเช่นนั้นจะเปลี่ยนมาเป็นผู้ประพฤติดีไม่ได้ แต่ความหมายในทางที่ดีอาจหมายความว่า เชื้อสายคนเก่งย่อมมีความเก่งหรือมีฝีมือ บางครั้งมีสำนวนต่อท้ายอีกเป็น เสือไม่ทิ้งลาย ควายไม่ทิ้งเหล่าหรืออาจจะเป็นการนำเสือมาเปรียบเทียบกับคนที่เก่งกล้าสามารถย่อมทำตัวให้สมกับความเก่งนั้น โดยมากมักเปรียบกับผู้ชายที่เก่ง จึงมีสำนวนว่า ชาติเสือต้องไว้ลาย ชาติชายต้องไว้ชื่อหมายถึง เกิดเป็นผู้ชายต้องรักษาชื่อเสียงเหมือนเสือต้องรักลายของมัน นอกจากจะนำเรื่องราวของ เล็บเสือมากล่าวเชิงเปรียบเทียบแล้ว คนไทยยังนำเล็บเสือมากล่าวเชิงเปรียบในสำนวนอีกด้วย ธรรมชาติของเสือจะมีเล็บหดเก็บไว้ในระหว่างซอกเนื้อที่อุ้งเท้าของมัน เมื่อเสือจะล่าเหยื่อหรอต่อสู้กับศัตรูจึงจะกางเล็บออกมาให้เห็นความแหลมคมน่ากลัว จึงมีสำนวน เสือซ่อนเล็บซึ่งสามารถตีความได้เป็นสองนัยทั้งทางดีและทางไม่ดี คือ อาจหมายถึงผู้ที่มีความเก่งกล้าสามารถ มีฝีมือแต่นิ่งขรึมเก็บไว้ไม่โอ้อวดหรือแสดงท่าทีให้ผู้อื่นรู้ หรืออาจหมายถึงผู้ที่เก็บความรู้สึกไว้ได้ดี การตีความดังกล่าวเป็นการตีความในทางที่ดี ส่วนการตีความในทางที่ไม่ดี อาจหมายถึงผู้ที่มีเลห์กลอยู่ในใจแสร้งแสดงว่าไม่มีพิษสง แต่รอจังหวะที่จะตระครุบเหยื่ออยู่ก็ได้

ไม่มีความคิดเห็น: