วันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2555

ตำนานอาหารเส้น ตอน เส้นก๋วยเตี่ยว



ก๋วยเตี๋ยว เป็นอาหารชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นเส้นยาว ทำมาจากแป้งข้าวเจ้าเป็นส่วนใหญ่ โดยมากจะลวกให้สุกในน้ำเดือด สะเด็ดน้ำ แล้วนำมาใส่เครื่องปรุงชนิดต่างๆ นิยมรับประทานทั้งแบบน้ำและแบบแห้ง โดยนิยมใช้ตะเกียบเป็นเครื่องมือในการรับประทาน

ข้าวซอยก็นับเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านทางภาคเหนือของไทย

ประวัติ

ประวัติก๋วยเตี๋ยว ในเมืองไทย
ก็คงจะมีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ เมืองไทยเราได้ทำการค้าขายกับชาวต่างชาติมากมายหลายชาติ และชาวจีนนี่เอง ที่เมื่อแล่นเรือสำเภามาค้าขายกับคนไทยนอกจากจะมีสินค้ามาค้าขายแล้ว ก็ยังมีการนำเอาเส้นก๋วยเตี๋ยวติดเรือมาด้วย โดยนำมาปรุงเป็นอาหารกินกันในเรืออย่างธรรมดา โดยต้มในน้ำซุป ใส่หมู ใส่ผักบางอย่างแต่คนไทยเห็นเข้าก็เห็นเป็นของแปลกตาในยุคนั้นอย่างที่สุด แต่เมื่อเห็นบ่อยเข้าก็มีการเอาเส้นก๋วยเตี๋ยวมาประกอบเป็นอาหารอื่น บริโภคกัน ก็เริ่มสร้างความคุ้นเคยได้เพิ่มอีก

นอกจากนี้คนจีน ก็เริ่มมีการทำเส้นก๋วยเตี๋ยวเองในเมืองไทย โดยการนำเอาแป้งข้าวเจ้า มาทำเส้นก๋วยเตี๋ยว มากขึ้น คนไทยจึงรู้จักเส้นก๋วยเตี๋ยวกันเป็นอย่างดีในเวลาต่อมา
หลังจากสิ้นยุคกรุงศรีอยุธยา มาถึงสมัยกรุงธนบุรี ก็ยิ่งมีคนจีนเดินทางมาค้าขาย และมาสร้างเนื้อ สร้างตัวในเมืองไทยมากขึ้น ก็เลยมีการทำเส้นก๋วยเตี๋ยวกันมากขึ้น หาซื้อได้ง่ายและแถมด้วยการทำก๋วยเตี๋ยวขายแบบ หาบเร่ไปถึงผู้ซื้อทีเดียว รวมถึงการเร่ขายทางเรือด้วย ประเภทก็มีทั้ง น้ำ แห้ง แต่เป็นหมูทั้งหมด ยังไม่มีก๋วยเตี๋ยวเนื้อเกิดขึ้น

การทำเส้น คนจีนเขาทำกันอย่างไรในสมัยก่อน

การทำเส้นก๋วยเตี๋ยว คนจีนทำกันในครัวเรือน โดยทำกันในครัว วิธีการก็จะนำเอาเมล็ดข้าวสาร มาแช่น้ำไว้ตั้งแต่หัวค่ำ แช่ไว้จนเช้าจึงนำไปโม่ให้ละเอียดเป็นแป้ง ต่อมาก็จะทำเป็นแผ่น โดยการเอาหม้อใบโต ใส่น้ำต้มให้เดือด เอาผ้ามัดไว้ที่ปากหม้อ เว้นช่องให้ความร้อนที่เป็นไอผ่านได้สะดวก จากนั้นก็จะนำแป้งที่โม่ไว้ที่เหลวพอเหมาะสม ตักแป้งดังกล่าวพอประมาณ เทละเลงลงบนผ้าที่มัดไว้ปากหม้อ ให้กระจายมีความบางกำลังดี แล้วเอาฝาหม้อปิดไว้ รอเพียงครู่เดียวแป้งก็สุก เอาไม้พายแซะแผ่นแป้งที่สุก เอาไปพาดไว้บนราวไม้ไผ่ ผึ่งให้แห้ง พอแห้งหมาดๆ ก็นำลงมาทาน้ำมันถั่วเคลือบไว้แล้วซ้อนแผ่นอื่นทับไปอีก จะได้ไม่ติดกัน ต่อมาก็เอามีดมาหั่นเป็นเส้นๆ จะเอาเส้นเล็ก หรือใหญ่ก็ตามแต่จะหั่น ก็จะได้เป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว แต่ปัจจุบันทำด้วยเครื่องกันหมดแล้ว นี่คือที่มาของเส้นก๋วยเตี๋ยว ( เส้นขาวนั่นเอง)

ในสมัย จอมพล ป.พิบูลย์สงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบาย รัฐนิยม ที่สนับสนุนให้ประชาชน บริโภคก๋วยเตี๋ยว โดย ท่านนายกฯ เห็นว่าหากประชาชน หันมาร่วมกันบริโภคก๋วยเตี๋ยว จะเป็นการแก้ไข เศรษฐกิจของชาติในตอนนั้น เพื่อจะได้มีเงินหมุนเวียนในประเทศ ดังคำกล่าวของท่าน นายกฯ ในสมัยนั้นว่า

อยากให้พี่น้องกินก๋วยเตี๋ยวให้ทั่วกัน เพราะก๋วยเตี๋ยว มีประโยชน์ต่อ ร่างกาย มีรสเปรี้ยว เค็ม หวานพร้อม ทำเองได้ในประเทศไทย หาได้สะดวกและอร่อยด้วย หากพี่น้องชาวไทยกินก๋วยเตี๋ยวคนละ หนึ่งชามทุกวัน วันหนึ่งจะมีคนกินก๋วยเตี๋ยวสิบแปดล้านชาม ตกลงวันหนึ่งค่าก๋วยเตี๋ยวของชาติไทยหนึ่งวันเท่ากับเก้าสิบล้านสตางค์เท่ากับเก้าแสนบาท เป็นจำนวนเงินหมุนเวียนมากพอใช้ เงินเก้าแสนบาทนั้น ก็จะไหลไปสู่ชาวไร่ ชาวนา ชาวทะเลทั่วกันไม่ตกไปอยู่ในมือใครคนหนึ่งคนใดเพียงคนเดียว และเงินหนึ่งบาทก็มีราคาหนึ่งบาท ซื้อก๋วยเตี๋ยวได้เสมอ ไม่ใช่ซื้ออะไรก็ไม่ได้เหมือนอย่างทุกวันนี้ซึ่งเท่ากับไม่มีประโยขน์เต็มที่ในค่าของเงิน
— จอมพล ป.พิบูลย์สงคราม

ไม่มีความคิดเห็น: