วันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2555

ขนมไทย ตอน ประวัติ ขนมไทย





ขนมไทย หัตถกรรมความอร่อยที่แสดงออกถึงความอ่อนช้อยของความเป็นไทย ตั้งแต่ครั้งอดีตกาลที่ก่อกำเนิดภูมิปัญญาไทยหลากหลายอย่างให้สืบสานต่อทั้งวิถีชีวิตประเพณี วัฒนธรรม ที่สามารถนำวัสดุมีอยู่ในท้องถิ่นมาปรุงแต่งเป็นของหวานได้มากหลายรูปแบบ จัดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่บ่งบอกว่าคนไทยมีลักษณะนิสัยอย่างไร เพราะขนมแต่ละชนิดล้วน มีเสน่ห์ แสดงให้เห็นถึงความละเอียดอ่อน ประณีต วิจิตรบรรจงในรูปลักษณ์ ตั้งแต่วัตถุดิบที่ใช้ วิธีการทำที่กลมกลืน ความพิถีพิถัน สีที่ให้ความสวยงาม มีกลิ่นหอม รสชาติของขนมที่ละเมียดละไมชวนให้รับประทาน แสดงให้เห็นว่าคนไทยเป็นคนใจเย็น รักสงบ มีฝีมือเชิงศิลปะ


คำว่า "ขนม" เข้าใจว่ามาจากคำสองคำที่มาผสมกันคือ "ข้าวหนม" และ "ข้าวนม" เข้าใจว่าเป็นข้าวผสมน้ำอ้อย น้ำตาล โดยอนุโลมคำว่าหนม แปลว่า หวาน
          ข้าวหนม ก็แปลว่า ข้าวหวาน เรียกสั้นๆ เร็วๆ ก็กลายเป็น ขนม ไป
          ส่วนที่ว่ามาจากข้าวนม (ข้าวเคล้านม) นั้นดูจะเป็นตำนานแขกโบราณ อย่างข้าวมธุปายาส (ที่นางสุชาดาทำถวายพระพุทธเจ้าเมื่อตอนตรัสรู้ก็ว่าเป็นข้าวหุงกับนม)


คำว่า ขนม มีใช้มาหลายร้อยปียากจะสันนิฐานแน่นอนได้ เช่นเดียวกับไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอนว่า "ขนมไทย" เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยใดเป็นครั้งแรก แต่ตามประวัติศาสตร์ไทยมีหลักฐานตอนหนึ่งว่า มีการจารึกชื่อขนมในแท่งศิลาจารึก เป็นการจารึกแบบลายแทงสมัยโบราณ ขนมที่ปรากฏคือ "ไข่กบ นกปล่อย บัวลอย อ้ายตื้อ" ถามผู้ใหญ่ดูถึงได้รู้ว่า ไข่กบ หมายถึง เม็ดแมงลัก นกปล่อย หมายถึง ลอดช่อง บัวลอย หมายถึง ข้าวตอก อ้ายตื้อ หมายถึง ข้าวเหนียว ขนมทั้งสี่ใช้น้ำกระสายอย่างเดียวกันคือ "น้ำกะทิ" โดยใช้ถ้วยใส่ขนม ซึ่งเราเรียกการเลี้ยงขนม ๔ อย่างนี้ว่า "ประเพณี ๔ ถ้วย"


ขนมไทยเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในสมัยอยุธยา ดังปรากฏข้อความในจดหมายเหตุหลายฉบับ บางฉบับกล่าวถึง "ย่านป่าขนม" หรือตลาดขนม บางฉบับกล่าวถึง "บ้านหม้อ" ที่มีการปั้นหม้อ และรวมไปถึงกระทะ ขนมเบื้อง เตาและรังขนมครก แสดงให้เห็นว่าขนมครกและขนมเบื้องนั้น คงจะแพร่หลายมากจนถึงขนาดมีการปั้นเตาและกระทะขาย บางฉบับกล่าวถึงขนมชะมด ขนมกงเกวียนหรือขนมกง ขนมครก ขนมเบื้อง ขนมลอดช่อง จนถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อันถือได้ว่าเป็นยุคทองของการทำขนมไทย ดังที่จดหมายเหตุฝรั่งโบราณได้มีการบันทึกไว้ว่า การทำขนมในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้นเจริญรุ่งเรืองมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อชาวโปรตุเกสอย่างท่านผู้หญิงวิชาเยนทร์หรือบรรดาศักดิ์ว่า ท้าวทองกีบม้า ผู้เป็นต้นเครื่องขนมหรือของหวานในวัง ได้สอนให้สาวชาววังทำของหวานต่าง ๆ โดยเฉพาะได้นำไข่ขาวและไข่แดงมาเป็นส่วนผสมสำคัญอย่างที่ทางโปรตุเกสทำกัน ขนมที่ท่านท้าวทองกีบม้าทำขึ้นและยังเป็นที่นิยมจนถึงปัจจุบันก็ได้แก่ ขนมทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ขนมหม้อแกง และรวมไปถึง ขนมทองโปร่ง ขนมทองพลุ ขนมสำปันนี ขนมไข่เต่า ฯลฯ


ล่วงจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี ผู้ทรงเป็นพระเจ้าน้องยาเธอในสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กล่าวไว้ว่าในงานสมโภชพระแก้วมรกตและฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ได้มีเครื่องตั้งสำรับหวานสำหรับพระสงฆ์ ๒,๐๐๐ รูป ประกอบด้วย ขนมไส้ไก่ ขนมฝอย ข้าวเหนียวแก้ว ขนมผิง กล้วยฉาบ ล่าเตียง หรุ่ม สังขยา ฝอยทอง และขนมตะไล
กาพย์เห่ชมเครื่องคาว-หวาน บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๒ ที่ทรงพระราชนิพนธ์ ชมพระศรีสุริเยนทรา บรมราชชนนีด้วยกระบวนแต่งเครื่องเสวย ที่ไม่มีผู้ใดจะเสมอได้ในครั้งนั้น ด้วยกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน ที่ไพเราะยิ่ง ในฝีพระหัตถ์ด้วย






• เห่ชมเครื่องหวาน


๏ สังขยาหน้าไข่คุ้น                 เคยมี
แกมกับข้าวเหนียวสี                โศกย้อม
เป็นนัยนำวาที                         สมรแม่ มาแม
แถลงว่าโศกเสมอพ้อม            เพียบแอ้อกอร ๚


๏ สังขยาหน้าตั้งไข่                  ข้าวเหนียวใส่สีโศกแสดง
เป็นนัยไม่เคลือบแคลง             แจ้งว่าเจ้าเศร้าโศกเหลือ
๏ ซ่าหริ่มลิ้มหวานล้ำ                แทรกใส่น้ำกะทิเจือ
วิตกอกแห้งเครือ                      ได้เสพหริ่มพิมเสนโรย
๏ ลำเจียกชื่อขนม                    นึกโฉมฉมหอมชวยโชย
ไกลกลิ่นดิ้นแดโดย                   โหยไห้หาบุหงางาม
๏ มัศกอดกอดอย่างไร               น่าสงสัยใคร่ขอถาม
กอดเคล้นจะเห็นความ               ขนมนามนี้ยังแคลง
๏ ลุดตี่นี้น่าชม                          แผ่แผ่นกลมเพียงแผ่นแผง
โอชาหน้าไก่แกง                       แคลงของแขกแปลกกลิ่นอาย
๏ ขนมจีบเจ้าจีบห่อ                   งามสมส่อประพิมพ์ประพาย
นึกน้องนุ่งจีบกราย                     ชายพกจีบกลีบแนบเนียน
๏ รสรักยักลำนำ                         ประดิษฐ์ทำขนมเทียน
คำนึงนิ้วนางเจียน                      เทียนหล่อเหลาเกลากลึงกลม
๏ ทองหยิบทิพย์เทียมทัด           สามหยิบชัดน่าเชยชม
หลงหยิบว่ายาดม                       ก้มหน้าเมินเขินขวยใจ
๏ ขนมผิงผิงผ่าวร้อน                  เพียงไฟฟอนฟอกทรวงใน
ร้อนนักรักแรมไกล                     เมื่อไรเห็นจะเย็นทรวง
๏ รังไรโรงด้วยแป้ง                    เหมือนนกแกล้วทำรังรวง
โอ้อกนกทั้งปวง                         ยังยินดีด้วยมีรัง
๏ ทองหยอดทอดสนิท                ทองม้วนมิดคิดความหลัง
สองปีสองปิดบัง                         แต่ลำพังสองต่อสอง
๏ งามจริงจ่ามงกุฏ                    ใส่ชื่อดุจมงกุฏทอง
เรียมร่ำคำนึงปอง                       สะอิ้งน้องนั้นเคยยล
๏ บัวลอยเล่ห์บัวงาม                  คิดบัวกามแก้วกับตน
ปลั่งเปล่งเคร่งยุคล                    สถนนุชดุจประทุม
๏ ช่อม่วงเหมาะมีรส                  หอมปรากฏกลโกสุม
คิดสีสไลคลุม                            หุ้มห่อม่วงดวงพุดตาน
๏ ฝอยทองเป็นยองใย                เหมือนเส้นไหมไข่ของหวาน
คิดความยามเยาวมาลย์             เย็บชุนใช้ไหมทองจีน ๚






 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการพิมพ์ตำราอาหารออกเผยแพร่ การทำขนมไทยก็เป็นหนึ่งในตำราอาหารไทยนั้น จึงนับได้ว่าการทำขนมไทยและวัฒนธรรมขนมไทย เริ่มมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างมีระบบระเบียบในสมัยรัชกาลที่ ๕ นี้เอง แม่ครัวหัวป่าก์เป็นตำราอาหารไทยเล่มแรก ประพันธ์โดยท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ในตำราอาหารไทยเล่มนี้ปรากฏรายการสำรับของหวานเลี้ยงพระอันประกอบด้วย ขนมทองหยิบ ขนมฝอยทอง ขนมหม้อแกง ขนมหันตรา ขนมถ้วยฟู ข้าวเหนียวแก้ว ขนมลืมกลืน วุ้นผลมะปราง ฯลฯ แสดงให้เห็นว่าคนไทยนิยมทำขนมใช้ในงานบุญ ซึ่งก็เป็นแบบแผนต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา








บัวลอย


ขนมผิง
ลุดตี้
ขนมจีบ
ลำเจียก
ซาหริ่ม
รังไร
ทองหยิบทองหยอด ฝอยทอง



มัศกอด













ไม่มีความคิดเห็น: