วันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2555

ขนมไทย ตอน ขนมไทยกับเทศกาล






เทศกาลขึ้นปีใหม่ไทยหรือสงกรานต์ 
          ขนมไทยได้เข้ามามีบทบาทในงานบุญตั้งแต่อดีตมาแล้วที่คนไทยทำขนมพิเศษ ๆ เฉพาะงานบุญขึ้น นั่นหมายถึงในปีหนึ่ง ๆ  จะมีการทำขนมชนิดนั้นเพียง ๑ ครั้งเท่านั้น  เนื่องจากทำยากและต้องใช้แรงใจแรงกายของคนหลาย ๆ คนร่วมกัน ชาวบ้านจะทำขนมนั้น ๆ ในปริมาณมาก ซึ่งถ้าเหลือจากงานบุญก็จะนำไปแจกจ่ายเพื่อนบ้านและเก็บไว้กินเองหากจะเรียกขนมไทยในงานบุญนี้ว่าขนมตามฤดูกาลก็คงจะไม่ผิดนัก 

          เทศกาลตรุษสงกรานตสมัยก่อนถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ ก่อนที่รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามจะกำหนดให้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ตามแบบปฏิทินสากลตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๔ จนกระทั่งปัจจุบัน

          เดิมที เทศกาลขึ้นปีใหม่สงกรานต์ของไทยเรา  จะกำหนดวันงานไว้ ๓ วันด้วยกัน โดยถือเอา วันที่ ๑๓ เมษายนเป็นวันสงกรานต์วันที่ ๑๔ เมษายนเป็นวันเนา และวันที่ ๑๕ เมษายนเป็นวันเถลิงศก ขึ้นจุลศักราชใหม่ตามสุริยคติ
           ข้าวเหนียวแดง และกะละแมเป็นพระเอกและนางเอก ในเทศกาลตรุษสงกรานต์ ซึ่ง การกวนข้าวเหนียวแดงและกะละแมต้องใช้แรงมาก จึงต้องอาศัยช่วงเทศกาลน ี้ที่มีพ่อแม่พี่น้อง และญาติสนิทมิตรสหายมาร่วมประชุมกันโดยพร้อมเพรียงร่วมแรงร่วมใจกันทำเมื่อเสร็จแล้วก็นำไปทำบุญที่วัดร่วมกันสะท้อนให้เห็นถึงความสมัครสมานสามัคคีในครอบครัวและในสังคมไทย

 การทำขนมปีใหม่ของคนไทยสมัยก่อนต้องทำให้เสร็จก่อนวันสงกรานต์ เพราะเมื่อถึงวันงานชาวบ้านจะไปทำบุญเลี้ยงพระ  และก่อพระเจดีย์ทรายที่วัดแล้วจึงรดน้ำดำหัว เล่นสงกรานต์กันไปทั้ง ๗ วัน  ขนมปีใหม่ของไทยจึงเป็นขนมพื้นเมืองที่ทำขึ้นแล้วสามารถเก็บไว้ได้หลายวันคือข้าวเหนียวแก้ว ข้าวเหนียวแดง และกะละแม ในบรรดาขนมทั้งสามการกวนกะละแมถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ใช่ชาวบ้านจะนิยมกวนกันทุกปีส่วนใหญ่มักจะทำข้าวเหนียวแก้วบ้าง ข้าวเหนียวแดงบ้างสลับกัน เพราะสองอย่างนี้ทำได้ง่ายกว่า หรือบ้านไหนตั้งใจจะกวนกะละแม และเป็นครอบครัวใหญ่มีญาติพี่น้องมาก บรรยากาศช่วงกวนกะละแมจะคึกคักเป็นพิเศษ ทุกคนจะช่วยกันเตรียมการประมาณ ๒ วันโดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่เป็นลูกหลานจะถือเป็นเรื่องสนุกสนานเพราะไม่เพียงแต่ได้กินกะละแมก้นกระทะเท่านั้น ยังอาจจะได้กินมะพร้าวเผา อ้อยเผาอีกด้วยการกวนกะละแม สิ่งที่ต้องใช้ได้แก่ น้ำตาลหม้อหรือน้ำตาลปีบ มะพร้าวและข้าวเหนียว ก่อนวันกวน ๑ วัน ชาวบ้านจะคัดเลือกมะพร้าวห้าวประมาณ ๑๐-๑๕ ลูก มาไว้เพื่อใช้คั้นน้ำกะทิตามนสัดส่วนที่ต่างจะต้องอาศัยความชำนาญว่าข้าวเหนียวกี่ทะนานต่อมะพร้าวกี่ลูกและใช้น้ำตาลในปริมาณเท่าใด ขั้นตอนแรก ต้องนำข้าวเหนียวไปแช่น้ำเพื่อตักหยอดใส่โม่หินแน่นอนว่าต้องใช้คนที่มีร่างกายแข็งแรงช่วยกันโม่ตั้งแต่ตอนบ่ายกว่าจะเสร็จก็ตกประมาณ๓-๔ ทุ่มของวันเดียวกันจากนั้นก็จะทับถุงน้ำแป้งไว้ด้วยลูกโม่ให้น้ำไหลออกจนเหลือเพียงเนื้อแป้งหมาด ๆ ในวันรุ่งขึ้นประมาณตีสามตีสี่ บรรดาผู้ใหญ่จะตื่นขึ้นมาช่วยกันทำขนมแสงไฟจากตะเกียงลานและตะเกียงลานและตะเกียงรั้วจะถูกจุดให้สว่าง เมื่อเด็กเห็นหรือได้ยินเสียงผู้ใหญ่พูดคุยกัน ก็อดลุกขึ้นมาร่วมวงไม่ได้ บางคนก็อาสาช่วยขูดมะพร้าวจำนวนไม่น้อยจากนั้นก็จะคั้นมะพร้าวขูดด้วยน้ำลอยดอกมะลิ ใช้กรองแยกออกมาเป็นหัวกะทิ และหางกะทิ ส่วนหัวกะทิให้เทลงกระทะใบใหญ่   เคี่ยวด้วยไฟจนแตกมัน แล้วตักใส่อ่างเก็บไว้  ขั้นต่อไป คือนำแป้งที่เตรียมไว้ใส่กะละมัง เทหาง กะทิและใส่น้ำตาลหม้อมาผสมคลุกเคล้าเข้าด้วยกันเสร็จ แล้วก็เทลงกระทะใบบัวคือกระทะเหล็กขนาดใหญ่ที่วางอยู่บนเตา ใส่ฟืนให้ลุกโชนแล้วจึงเริ่มลงมือกวนกะละแมกันตั้งแต่เช้าประมาณเก้าโมง ช่วงแรกแป้งก็ยังเหลวอยู่ใช้พายด้ามเดียวกวนได้ง่าย ช่วงนี้เด็ก ๆที่นึกสนุกมักจะมาขอผู้ใหญ่กวน แต่กระนั้นก็ต้องคอยขูดก้นกระทะเสมอเพื่อป้องกันไม่ให้แป้งไหม้ติดก้นกระทะ และพอแป้งงวดข้นเหนียวเดือดเป็นฟองแล้วเด็ก ๆ ต้องระวังไม่ให้ฟองแตกถูกตัว เพราะจะทำให้ผิวหนังพองและแสบมาก เมื่อถึงขั้นนี้แล้ว ผู้ใหญ่มักจะลงมือกวนเอง มีการราไฟและเร่งไฟบ้างเป็นจังหวะ จนกระทางแป้งเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน ๆแล้วค่อย ๆ เป็นสีน้ำตาลแก่ ช่วงนี้แป้งและน้ำตาลจะเหนียวหนุบหนึบขึ้นเรื่อย ๆ จึงต้องออกแรงกวนมากเป็นพิเศษ ราว ๖ โมงเย็นของวันนั้น  กะละแม็จะกลายเป็นสีดำและเหนียวมากจนแทบจะกวนไม่ไหวต้องใช้พายอันที่สองเข้าช่วยไม่เช่นนั้นก้นกระทะจะไหม้ได้ ถ้าสังเกตเห็นว่าก้นกระทะทำท่าจะไหม้แล้ว รีบเติมหัวกะทิที่เคี่ยวแตกมันแล้วลงไปโดยใส่ทีละน้อยตั้งแต่เวลาบ่ายแก่ ๆ เป็นต้นมา ฟ้าเริ่มมืด กะละแมที่กวนก็ได้ที่ดีแล้ว ค่อย ๆ ราไฟในเตาให้อ่อนลง เพื่อป้องกันไม่ให้ก้นกระทะไหม้้ จากนั้นจึงใช้พายทั้ง ๒  ด้ามตักกะละแมใส่กระด้งที่ปูด้วยเปลือกกาบหมากเพราะกาบหมากจะช่วยให้กาละแมมีกลิ่นหอมกว่าใบตอง เป็นอันเสร็จขั้นตอนในการกวนกะละแม เพื่อเก็บไว้กินในวันรุ่งขึ้น ส่วนใหญ่เด็ก ๆ มักจะอดใจไม่ไหวจะคอยขูดกะละแมที่ก้นกระทะกินกันก่อนอย่างเอร็ดอร่อยบางคนก็จะนำมะพร้าวอ่อนบ้างอ้อยบ้างมาหมกไฟที่ยังพอมีเชื้ออยู่ เพื่อให้มีกลิ่นหอมมากขึ้น

 ปัจจุบัน ประเพณีการให้ขนมปีใหม่เป็นกะละแม ข้าวเหนียวแดง ข้าวเหนียวแก้ว เริ่มไม่เป็นที่นิยมแล้ว เพราะคนไทยส่วนใหญ่มักจะซื้อของขวัญอย่างอื่นมอบให้กันในวันปีใหม่แต่ก็ใช่ว่าขนมทั้งสามชนิดนี้จะหมดไปจากสังคมไทยเพราะทุกวันนี้ยังเห็นมีกะละแมห่อเป็นคำเล็กๆน่ารับประทานวางขายกับข้าวเหนียวแก้ว ข้าวเหนียวแดง ตามร้านขายขนมไทยอยู่ทั่วไป อีกทั้งไม่ได้เจาะจงว่า จะต้องมีเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ของไทยเท่านั้น



เทศกาลสารทไทย
            เทศกาลสารทไทยเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับทางภาคกลางจะมีการรวมพลในแต่ละบ้านหรือในหมู่บ้าน เพื่อกวนกระยาสารทไปทำบุญถวายพระโดยมีกล้วยไข่ผลงามสุกปลั่งเคียงคู่กันไปด้วยส่วนทางภาคใต้เทศกาลสารทไทยหรือที่เรียกกัน โดยทั่วไปว่างานสารทเดือน ๑๐ นี้ เป็นประเพณียิ่งใหญ่ประจำปีที่จัดขึ้นในระดับจังหวัดโดยเฉพาะที่นครศรีธรรมราชนั้นจัดขึ้นอย่างเอิกเกริกเลยทีเดียว ขนมในงานบุญสารทเดือน ๑๐ ของชาวปักษ์ใต้มีหลายชนิดด้วยกัน อาทิ ขนมลา ขนมบ้า ขนมดีซำ ขนมพอง ขนมไข่ปลา ขนมโค ขนมแดง ฯลฯ



 งานบุญออกพรรษาหรืองานตักบาตรเทโว ข้าวต้มมัดหรือข้าวต้มผัดเป็นดาวดวงเด่นของงานบุญออกพรรษาหรืองานตักบาตรเทโวของภาคกลางจะห่อและมัดเป็นกลีบโดยใช้ใบตองและเชือกกล้วย ส่วนทางใต้ห่อเป็นทรงกรวยโดยใช้ใบกะพ้อแต่แต่ไม่มัด บางท้องถิ่นห่อเป็นก้อนด้วยใบเตยหรือใบอ้อย แล้วไว้หางยาว เรียกว่า "ข้าวต้มลูกโยน" การนำข้าวต้มมัดมาใส่บาตรทำบุญจนเกิดเป็นธรรมเนียมมีจุดประสงค์เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ใช้เป็นเสบียง ในการเดินทางไปเผยแพร่พระธรรมคำสอนซึ่งยึดเป็นแบบแผนมาตั้งแต่สมัยโบราณ



งานทำบุญเลี้ยงพระ
            ขนมหวานของไทยนิยมทำขึ้นเพื่อทำบุญเลี้ยงพระในงานมงคล ได้แก่ ขนมตระกูลทองทั้งหลาย อาทิ ทองหยิบทองหยอด ฝอยทอง ทองเอก และขนมที่มีชื่ออันเป็นมงคลอย่าง ขนมถ้วยฟู ขนมชั้น ฯลฯ ขนมที่ใช้ในพิธีแห่ขันหมาก งานแต่งงานก็จะมี ขนมกง ขนมสามเกลอ ขนมพระพาย ขนมโพรงแสม ขนมชะมด ฯลฯ   ขนมที่ใช้ติดกัณฑ์เทศน์ก็มีขนมหน้านวล ขนมชั้น ขนมฝักบัว ขนมผิง ขนมทองม้วน ฯลฯ



งานแต่งงาน
            ขนมในงานมงคลอื่น ๆ ก็มีชื่ออันเป็นมงคลและมีความหมายไปในทางที่ดี   เช่นกัน อาทิ
                   * ขนมกงหรือขนมกงเกวียน ซึ่งหมายถึงกงเกวียนที่หมุนไปข้างหน้าเช่นเดียวกับพระธรรมจักรความหมาย
                      ที่ต้องการสื่อถึงงานแต่งงานก็คือ ต้องการให้คู่บ่าวสาวรักและครองคู่อยู่ด้วยกันชั่วนิจนิรันดร์
                   * ขนมสามเกลอ ซึ่งเป็นขนมที่แสดงถึงความสามัคคี และไม่มีวันพรากจากกัน โดยใช้เป็นขนมเสี่ยงทายใน
                      งานแต่งงาน ลักษณะของขนมสามเกลอเป็นลูกกลม ๆ เรียงกัน ๓ ลูกแบบก้อนเส้า การเสี่ยงทายจะดูกันตอน
                      ทอด กล่าวคือ ถ้าทอดแล้วยังอยู่ติดกัน ๓ ลูก ถือว่าบ่าวสาวจะรักใคร่กลมเกลียวกัน ถ้าทอดแล้วติดกัน ๒ ลูก
                      แสดงว่าจะมีลูกยากหรือไม่มีเลย และถ้าหลุดจากกันหมด ไม่ติดกันเลยแสดงว่าชีวิตคู่จะไม่ยั่งยืนหรือชีวิต
                      สมรสจะไม่มีความสุข อีกนัยหนึ่ง…ถ้าทอดขนมสามเกลอแล้วพองฟูขึ้นจะถือว่าเป็นคู่ที่เหมาะสมกับราวกิ่ง
                       ทองกับใบหยก แต่ถ้าทอดแล้วด้าน ไม่พองฟู ก็ถือว่าใช้ไม่ได้

             สาเหตุที่คนไทยในสมัยโบราณใช้ขนมดังกล่าวในงานมงคลก็เนื่องจากชื่ออันเป็นมงคลนั่นเอง โดยเฉพาะชื่อขนมที่มีคำว่า "ทอง" ประกอบ คนไทยเราถือว่าทองเป็นของดีมีมงคล ซึ่งการที่นำขนมที่มีคำว่า "ทอง" มาใช้ในงานมงคลก็เพื่อที่จะได้มีบุญกุศลมีเงินมีทอง มีลาภยศ สรรเสริญ สมขื่อขนมนั่นเอง



งานเลี้ยงต่างๆ
            นอกจากงานบุญและงานมงคลดังกล่าวแล้วในสมัยก่อนยังมีงานเลี้ยงใหม่ของเหล่าเศรษฐีและข้าราชการผู้มีเมตตามุทิตาประจำใจซึ่งจะเรียกชาวบ้านมากินขนมกัน ขนมที่ถูกนำมาเลี้ยงในงานนี้ก็คือ ขนมสี่ถ้วยอันได้แก่ ขนมไข่กบหรือเม็ดแมงลัก ขนมนกปล่อยหรือลอดช่อง ขนมนางลอยหรือข้าวเม่า และขนมไอ้ตื้อหรือข้าวเหนียวดำนึ่ง ขนมทั้ง ๔ ชนิดนี้ จะรับประทานร่วมกับน้ำกะทิ เรียกได้ว่าคนกินอิ่มอร่อยสบายท้อง คนทำคนปรุงได้บุญ และคนออกเงินเลี้ยงก็สุขใจที่ได้ทำบุญทำทานขนมไทยนัยแห่งยศถา

ไม่มีความคิดเห็น: