วันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2555

ตำนานอาหารเส้นตอน ประวัติอาหารเส้น



คนไทย รู้จักอาหารเส้นมาเป็นเวลานานร่วม 500 ปี เรากินก๋วยเตี๋ยว (ทั้งเส้นเล็ก เส้นใหญ่) หมี่ซัว เกี้ยมอี๋ ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นอาหารเส้นที่ผลิตจากแป้ง แต่มีส่วนผสมที่แตกต่างกัน อาหารเหล่านี้เป็นที่นิยมรับประทาน โดยเฉพาะในเวลากลางวัน เราอาจสั่งก๋วยเตี๋ยว หมู เป็ด และไก่ เป็นอาหารจานด่วนที่ใครๆ ก็นิยมกิน เพราะราคาไม่แพง และปรุงเสร็จเร็ว

เมื่อถึงยุคปัจจุบัน เรารู้จักอาหารเส้นของชาติตะวันตก เช่น สปาเกตตี้ มักกะโรนี ราวีโอลี่ ทอเทลลินี ฯลฯ จนทุกวันนี้ เรามีอาหารเส้นเหล่านี้ขายและบริโภคกันแพร่หลาย ส่วนชาวญี่ปุ่นก็มีอาหารเส้นเหมือนกัน ซึ่งเราเรียกรวมๆ กันว่า "บะหมี่ญี่ปุ่น" อันได้แก่ ราเมง, อุด้ง, โซบะ และชาโซบะ เป็นต้น แต่ก๋วยเตี๋ยวญี่ปุ่นเหล่านี้ต้องใช้เครื่องปรุงเฉพาะที่คนไทยทำไม่ได้ ดังนั้น อาหารญี่ปุ่นจึงมีราคาแพงทำให้ไม่เป็นที่นิยมรับประทาน

สำหรับอาหารพาสต้านั้น เราก็รู้ว่าคนอิตาเลียนชอบบริโภคเป็นชีวิตจิตใจเหมือนคนไทยชอบกินข้าว และอาหารแป้งที่ชาวอิตาเลียนชอบ ได้แก่ สปาเกตตี้ ที่ เป็นเส้นกลม และยาว ส่วนมักกะโรนีนั้นมีรูกลวง ตามปกติเวลาจะปรุงสปาเกตตี้พ่อครัวจะนำเส้นไปลวกน้ำร้อนเดือดก่อน จนเส้นอ่อนนุ่ม จากนั้นสงขึ้นผ่านน้ำเย็น แล้วยกขึ้นใส่ตะแกรง เพื่อให้สะเด็ดน้ำ ก่อนนำไปผัด และเมื่อถึงเวลาบริโภคใครๆ ก็ชอบรับประทานสปาเกตตี้ร้อนๆ

ปัญหาที่ใครๆ ก็ใคร่รู้คำตอบ คือ ชาติใดคิดอาหารเส้นก่อนกัน และใครลอกเลียนใคร

นักประวัติศาสตร์ได้รู้มานานแล้วว่า เมื่อ 2,200 ปีก่อน จนกระทั่งถึงเวลาที่อาณาจักรโรมันล่มสลาย อารยธรรมจีน และอารยธรรมโรมันเป็นสองอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุด จนกระทั่งเมื่อถึงสมัยศตวรรษที่ 18 นักผจญภัยชื่อ Marco Polo ได้เรียบเรียงหนังสือบรรยายการเดินทางของเขาในปี พ.ศ.1842 หนังสือได้นำความรู้เกี่ยวกับการทำก๋วยเตี๋ยวของชาวจีนมาให้ชาวเวนิสฟังและ นั่นก็คือ หลักฐานที่ทำให้รู้ว่า คนอิตาเลียนคิดทำพาสต้าหลังคนจีนคิดทำก๋วยเตี๋ยว

ดังได้กล่าวแล้วว่า ชาวจีนกับชาวอิตาเลียนมีวัฒนธรรมหลายอย่างที่คล้ายกัน เช่น ทั้งชายจีน และชายอิตาเลียนต่างก็รักแม่มาก (อายุ 40 แล้วก็ยังรัก และถ้าชายคนนั้นยังไม่ครองเรือน ก็แสดงว่า เขายังรักแม่มากกว่าหญิงอื่นอยู่) คนอิตาเลียนและคนจีนชอบบริโภคอวัยวะต่างๆ ของหมูเหมือนกัน เมื่ออิตาลีมี opera จีนก็มีงิ้วที่โลกรู้จักดี ในด้านร้องเพลง opera เสียงเพลง opera ฟังดูโหยหวนกว่า แต่ถ้าพูดถึงเรื่องแต่งหน้าแล้วงิ้วจีนกินขาด

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ในอดีตแสดงให้เห็นว่า อาณาจักรโรมันเริ่มติดต่อกับราชวงศ์ฮั่น เมื่อ 2,300 ปีก่อน โดยการนำโม่หินมาให้คนจีนรู้จัก และจีนเริ่มใช้โม่บดข้าวสาลีจนเป็นแป้ง จากนั้นนำแป้งสาลีมาผสมน้ำนวดจนเข้ากันดี แล้วจึงนำไปนึ่งหรือต้มสุกเป็นก๋วยเตี๋ยว

มาบัดนี้ นักประวัติศาสตร์ได้พบหลักฐานใหม่ที่ยืนยันให้โลกรู้ว่า จีนเป็นชนชาติแรกที่รู้จักทำเส้นก๋วยเตี๋ยว เมื่อ 4,000 ปีมาแล้ว
ในวารสาร Nature ฉบับวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2548 Houyuan Lu และคณะแห่ง Institute of Tibetan Plateau Research ได้รายงานว่า เขาได้พบไหที่ทำด้วยดินเผาใบหนึ่งที่เมือง Lajia ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ณ ตำแหน่งที่ละติจูด 35 4940" เหนือ ตัดกับลองจิจูด 120 5115" ตะวันออก และอยู่ใกล้ปลายแม่น้ำเหลือง

การขุดค้นได้ดำเนินมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 และคณะนักสำรวจได้พบไหผาปิดหลายใบที่ภายในมีเส้นก๋วยเตี๋ยว ไหเหล่านี้ฝังอยู่ใต้ดินที่ลึก 3 เมตร การวัดอายุของไหและของดินตะกอนในบริเวณนั้น แสดงว่า พื้นที่นี้คือ แหล่งอาศัยของคนเมื่อ 4,000 ปีก่อน และเมื่อหมู่บ้านถูกน้ำท่วม และถูกแผ่นดินไหวถล่ม ผู้คนจึงอพยพทิ้งหมู่บ้านไปอย่างถาวร

การศึกษาวิเคราะห์เส้นก๋วยเตี๋ยวแสดงให้รู้ว่ามันมี เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.3 เซนติเมตร ยาว 50 เซนติเมตร และมีสีเหลือง เพราะทำด้วยข้าวบาร์เลย์ (Hordeum) ข้าวสาลี (Triticum) และข้าวฟ่าง (Panicum) ซึ่งแสดงให้นักประวัติศาสตร์รู้ว่า คนจีนทำนาข้าวเหล่านี้เป็นตั้งแต่ 4,000 ปีก่อน

ไม่มีความคิดเห็น: