วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2555

นานาสัตว์ในสำนวนไทย อย่าแหย่เสือ



โฮก...โฮก...เสียงร้องของสัตว์สัญลักษณ์ปีขาลดังมาแล้ว เสือน่ะไม่น่าจะใช่พระเอก น่าจะเป็นผู้ร้ายเสียล่ะมากกว่า เห็นได้จากนิทานส่วนใหญ่ที่มักจะแสดงพฤติกรรมความดุร้ายของเสือ คนไทยสังเกตอากัปกิริยาของเสือ และระแวดระวังภัยที่มาจากความดุร้ายของสัตว์สัญลักษณ์ปีขาลตัวนี้ เกิดเป็นสำนวนไทยที่เกี่ยวข้องกับเสือมากมายทีเดียว
วัวกับเสือ แม้จะเป็นปีนักษัตรติดกัน แต่ธรรมชาติของสัตว์ทั้งสองชนิดต่างกันมาก วัวเป็นสัตว์กินหญ้า แต่เสือเป็นสัตว์กินเนื้อ วัวจึงเป็นอาหารของเสือด้วย วัวจึงกลัวเสือ เพียงได้กลิ่นสาบเสือก็ตกใจแล้ว ถ้าเผชิญหน้ากันก็จะยิ่งตื่นตระหนกหนักขึ้นไปอีก สำนวน เขียนเสือให้วัวกลัวจึงหมายความว่า ทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้อีกฝ่ายเสียขวัญหรือเกรงขาม เป็นการข่มขู่ให้ให้เกิดความเกรงกลัวนั่นเอง และในทำนองเดียวกันคนก็อาจจะขู่เสือให้กลัวได้ ดังสำนวนที่ว่า ตีป่าให้เสือกลัวซึ่งมีความหมายว่าขู่ให้กลัวเช่นเดียวกัน
ป่าเป็นที่อยู่ของเสือ แต่ในขณะเดียวกัน ป่ายังคงสภาพเป็นป่าอยู่ได้เพราะมีเสืออาศัยอยู่ในป่า เพราะหากไม่มีสิ่งที่คนเกรงกลัวอาศัยอยู่ คนก็คงบุกรุกเข้าไปทำลายป่าได้ง่าย และคงทำลายป่าเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง แสดงว่าทั้งเสือและป่าต้องพึ่งพาอาศัยกัน เช่นเดียวกับเรือและแม่น้ำลำคลอง การที่เรือต้องพึ่งน้ำเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัด แต่น้ำก็ต้องพึ่งเรือเหมือนกัน เพราะถ้าลำคลองใดไม่มีการขุดลอก ต้นไม่ใบหญ้าก็จะขึ้นปกคลุมจนรก เมื่อไม่มีการขุดลอกเพื่อให้เรือแล่นได้สะดวก นานๆ เข้าลำน้ำลำคลองสายนั้นก็อาจตื่นเขินได้ สำนวน น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าจึงมีความหมายว่า สรรพสิ่งต้องพึ่งพาอาศัยกัน บางครั้งก็มีการพูดต่อสำนวนออกไปอีกว่า น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า ข้าพึ่งเจ้าบ่าวพึ่งนายหรือ เสือมีเพราะป่าปก ป่ารกเพราะเสือยัง ดินดีเพราะหญ้าบัง หญ้ายังเพราะดินดีสำนวนที่กล่าวทำนองนี้ยังมีอีกมาก แต่มีความหมายอย่างเดียวกันคือ ล้วนแสดงถึงการพึ่งพาอาศัยกันทั้งสิ้น
นอกจากสำนวน น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าแล้ว สำนวนไทยที่กล่าวถึงเสือยังมีอีกหลายสำนวน อย่างสำนวน ไล่เสือเข้าป่าหมายถึงการยุยงส่งเสริมให้ทำสิ่งที่ชอบ แต่ถ้าเป็นสำนวนว่า ปล่อยเสือเข้าป่ามักจะใช้ในความหมายว่า ปล่อยสิ่งที่ร้ายกลับไปสู่ถิ่นเดิม ความหมายที่แฝงอยู่ก็คือ สิ่งนั้นอาจจะย้อนกลับมาทำความเดือดร้อนให้ได้ในภายหน้า จะเห็นได้ว่าป่ากับเสือเป็นสิ่งที่มักพูดถึงคู่กัน เพราะป่าเป็นที่อยู่ของเสือ เมื่อเสืออยู่ในป่าเสือก็เป็นเจ้าถิ่น ใครเข้าใกล้ก็อาจถูกทำร้ายได้ จึงมีสำนวนไทยอีกสำนวนหนึ่งว่า เข้าป่าหาเสือหมายถึงหาเรื่องเดือดร้อนใส่ตัว เพราะเขาอยู่ในถิ่นของเขาดีๆ ก็เข้าไปหาเขาเอง สำนวนนี้บางครั้งมีการกล่าวเป็นสำนวนคล้องจองกันว่า เข้าป่าหาเสือ ถ่อเรือหาความเป็นการรนหาความเดือดร้อนให้ตัวเองเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น: