วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2555

เรื่องกล้วยๆ ตอน ประวัติความเป็นมาของกล้วย



ประวัติของกล้วย

          กล้วยเป็นไม้ผลที่คนไทยรู้จักกันมานาน เนื่องจากกล้วยมีถิ่นกำเนิดในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคดังกล่าว จากการศึกษาพบว่า กล้วยมีวิวัฒนาการถึง ๕๐ ล้านปีมาแล้ว ดังนั้นจึงเป็นไม้ผลที่มนุษย์รู้จักบริโภคเป็นอาหารกันอย่างแพร่หลาย เชื่อกันว่ากล้วยเป็นไม้ผลชนิดแรกที่มีการปลูกเลี้ยงไว้ตามบ้าน และได้แพร่พันธุ์จากเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปยังดินแดนอื่นๆ ในระยะเวลาต่อมา

ในพระพุทธศาสนา  มีการวาดภาพต้นกล้วยในงานจิตรกรรม  ในภาพวาดเป็นการนำกล้วยไปสักการะพระเจ้ากาละ
จีนโบราณมีการบันทึกไว้ว่า  มีกล้วยอยู่  12  ชนิด  ได้แก่  ปารู  กัน-เชียว  ยาเชียว  ปาเชียว  นันเชียว  เทียนเชียว  ชีเชียว  ชุงเชียว  เมเจนเชียว  โปโชวเชียว  ยังเชียวเชียว  ยูฟูเชียว  กล้วยเหล่านี้ปลูกมากที่กวางตุ้ง  ฟูเกียง  ฯลฯ

          กล้วยมีการปลูกกันมากในเอเชียใต้ แม้ในปัจจุบัน ประเทศอินเดียเป็นประเทศที่มีการปลูกกล้วยมากที่สุดในโลก และมีพันธุ์กล้วยมากมายอีกด้วย เหมาะสมกับที่มีการกล่าวกันไว้ในหนังสือของชาวอาหรับว่ากล้วยเป็นผลไม้ของชาวอินเดีย” ต่อมาได้มีหมอของจักรพรรดิโรมันแห่งกรุงโรมชื่อว่า แอนโตนิอุส มูซา (Antonius Musa) ได้นำหน่อกล้วยจากอินเดียไปปลูกทางตอนเหนือของอียิปต์ เมื่อประมาณ ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว หลังจากนั้นมีการแพร่ขยายพันธุ์กล้วยไปในดินแดนของแอฟริกาที่ชาวอาหรับเข้าไปค้าขายและพำนักอาศัย จนกระทั่งเมื่อประมาณ ค.ศ. ๙๖๕ ได้มีการกล่าวถึงกล้วยว่า ใช้ในการประกอบอาหารชนิดหนึ่งของชาวอาหรับ ซึ่งอร่อยและเป็นที่เลื่องลือมาก ชื่อว่า กาลาอิฟ  (Kalaif) เป็นอาหารที่ปรุงด้วยกล้วย เมล็ดอัลมอนด์ น้ำผึ้ง ผสมกับน้ำมันนัต (Nut oil) ซึ่งสกัดจากผลไม้เปลือกแข็งชนิดหนึ่ง นอกจากใช้ประกอบอาหารแล้ว ชาวอาหรับยังใช้กล้วยทำยาอีกด้วย  ชาวอาหรับเรียกกล้วยว่ามูซา” ตามชื่อของหมอที่เป็นผู้นำกล้วยเข้ามาในอียิปต์เป็นครั้งแรก

          ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ ชาวโปรตุเกสได้เดินเรือไปค้าขายบริเวณชายฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกา และได้นำกล้วยไปแพร่พันธุ์ที่หมู่เกาะคะแนรี  ซึ่งตั้งอยู่นอก ชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของทวีป หลังจากนั้น ชาวสเปนจึงได้นำกล้วยจากหมู่เกาะ คะแนรีเข้าไปปลูกในหมู่เกาะอินดีสตะวันตก  นอเมริกากลาง โดยเริ่มปลูกที่อาณานิคมซันโตโดมิงโก  บนเกาะฮิสปันโยลา เป็นแห่งแรก แล้วขยายไปปลูกที่เกาะอื่นในเวลาต่อมา ส่งผลให้ดินแดนในอเมริกากลางมีการปลูกกล้วยเป็นพืชเศรษฐกิจกันอย่างแพร่หลาย และนับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นมา ได้กลายเป็นแหล่งปลูกกล้วยส่งเป็นสินค้าออกมากที่สุดของโลก โดยปลูกมากในประเทศคอสตาริกา และประเทศฮอนดูรัส

ส่วนในอินเดียได้รู้จักกล้วยกันมานานกว่าสามพันปีมาแล้ว โดยมีข้อความปรากฏตอนหนึ่งในมหากาพย์รามายณะกล่าวว่า เมื่อนางเกาสุริยาได้ฟังว่า พระรามมิได้มีการแต่งตั้งให้เป็นกษัตริย์แล้ว พระนางถึงกับล้มราวกับต้นกล้วยถูกฟันด้วยคมมีด

ความเป็นมาของกล้วยในประเทศไทย

ในตอนแรกได้กล่าวไปบ้างแล้วว่า  กล้วยเป็นพืชเก่าแก่ที่อยู่คู่กับคนไทยมานานแสนนาน  และโดยทางประวัติศาสตร์แล้ว  ประเทศไทยของเราเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ซึ่งถือว่าเป็นถิ่นกำเนิดสำคัญของกล้วยป่าขึ้นชุกชุม กล้วยที่ถือว่าเป็นพันธุ์ดั้งเดิมของไทย เป็นกล้วยที่ขึ้นอยู่ในบริเวณภาคใต้ของไทย  ได้แก่  กล้วยไข่ทองร่วง  กล้วยเล็บมือนาง  เป็นต้น

ประเทศไทยมีการปลูกกล้วยกันมาช้านาน กล้วยที่ปลูกมีมากมายหลายชนิด พันธุ์กล้วยที่ใช้ปลูกในประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณนั้น มีทั้งพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิม และนำเข้ามาจากประเทศใกล้เคียง กล้วยที่รู้จักกันในสมัยสุโขทัยคือ กล้วยตานี  และปัจจุบันในจังหวัดสุโขทัยก็ยังมีการปลูกกล้วยตานีมากที่สุด แต่เรากลับไม่พบกล้วยตานีในป่า ทั้งๆ ที่กล้วยตานีก็เป็นกล้วยป่าชนิดหนึ่ง มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย จีน และพม่า ดังนั้นจึงสันนิษฐานว่า กล้วยตานีน่าจะนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยตอนต้น หรือช่วงการอพยพของคนไทยมาตั้งถิ่นฐานที่สุโขทัย
ในสมัยอยุธยา เดอลาลูแบร์  (De La Loub`ere)  อัครราชทูตชาวฝรั่งเศสที่เดินทางมาเมืองไทยในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๐ ได้เขียนบันทึกถึงสิ่งที่เขาได้พบเห็นในเมืองไทยไว้ว่า ได้เห็นกล้วยงวงช้าง ซึ่งก็คือ  กล้วยร้อยหวีในปัจจุบัน ที่ส่วนใหญ่ปลูกไว้เพื่อเป็นไม้ประดับนั่นเอง  นอกจากนี้ยังมีตำนานเล่ากันมาว่า มีการค้าขายกล้วยตีบอีกด้วย แสดงให้เห็นว่า ได้มีการปลูกกล้วยทั้งเพื่อความสวยงาม และเพื่อการบริโภคกันมาช้านานแล้ว

          ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ ในรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ซึ่งเป็นปรมาจารย์ทางด้านภาษาไทย ได้เขียนหนังสือ พรรณพฤกษากับสัตวาภิธาน เพื่อเป็นแบบเรียนภาษาไทยสำหรับใช้ในโรงเรียน กล่าวถึงชื่อของพรรณไม้และสัตว์ชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ในเมืองไทย  โดยเรียบเรียงเป็นกาพย์ฉบัง ๑๖ เพื่อให้ไพเราะและจดจำได้ง่าย ในหนังสือดังกล่าว มีข้อความที่พรรณนาถึงชื่อกล้วยชนิดต่างๆ ไว้

          จากกาพย์ดังกล่าว ทำให้เราได้ทราบชนิดของกล้วยมากขึ้น แสดงให้เห็นถึงความนิยมในการปลูกกล้วยในสมัยนั้น ทั้งนี้เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสประเทศต่างๆ หลายประเทศ จึงได้มีการนำกล้วยบางชนิดเข้ามาปลูกในรัชสมัยของพระองค์

          หลังจากที่นักวิชาการชาวตะวันตกได้ เริ่มจำแนกชนิดของกล้วยตามลักษณะทางพันธุกรรม โดยใช้จีโนมของกล้วยเป็นตัว  กำหนดในการแยกชนิดตามวิธีของซิมมอนดส์ และเชบเฟิร์ด ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น จึงกล่าวได้ว่า กล้วยที่บริโภคกันอยู่ในปัจจุบันมีบรรพบุรุษอยู่เพียง    ชนิดเท่านั้น คือ กล้วยป่า และกล้วยตานี กล้วยที่มีกำเนิดจากกล้วยป่ามีจีโนมทางพันธุกรรมเป็น  AA  ส่วนกล้วยที่มีกำเนิดจากกล้วยตานีมีจีโนมเป็น BB และกล้วยลูกผสมของทั้ง ๒ ชนิด  มีจีโนมเป็น  AAB, ABB,  AABB และ ABBB นอกจากนี้ ซิมมอนดส์ยังได้จำแนกชนิดของกล้วยในประเทศไทยว่ามีอยู่  ๑๕  พันธุ์
ต่อมานักวิชาการไทยได้ทำการศึกษา ค้นคว้าเกี่ยวกับพันธุ์และชนิดของกล้วย คือ ใน พ.ศ. ๒๕๑๐  วัฒนา เสถียรสวัสดิ์  และปวิณ ปุณศรีได้ทำการรวบรวมพันธุ์กล้วยที่พบในประเทศได้ ๑๒๕ สายพันธุ์ และจากการจำแนกจัดกลุ่มแล้ว พบว่ามี ๒๐  พันธุ์หลังจากนั้นในระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๓ - ๒๕๒๖  เบญจมาศ  ศิลาย้อย และฉลองชัย แบบประเสริฐ แห่งภาควิชาพืชสวน  มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์  ได้ทำการสำรวจพันธุ์กล้วยในประเทศไทย และรวบรวมพันธุ์ไว้ที่สถานีวิจัยปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยรวบรวมได้ทั้งหมด ๓๒๓ สายพันธุ์ แต่เมื่อจำแนกชนิดแล้ว พบว่ามีอยู่เพียง ๕๓ พันธุ์  หลังจากสิ้นสุดโครงการ  ยังได้ทำการรวบรวมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน พบว่ามีอยู่ ๗๑ พันธุ์  รวมทั้งกล้วยป่าและกล้วยประดับ ทั้งนี้ไม่นับรวมพันธุ์กล้วยที่ได้มีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ  ซึ่งมีอีกหลายพันธุ์ ปัจจุบันกล้วยในเมืองไทย ซึ่งจำแนกชนิดตามจีโนม มีดังนี้
กลุ่ม AA
          ที่พบในประเทศไทยมีกล้วยป่า สำหรับกล้วยกินได้ในกลุ่มนี้มีขนาดเล็ก รสหวาน กลิ่นหอม รับประทานสด ได้แก่ กล้วยไข่  กล้วยเล็บมือนาง  กล้วยหอมจันทร์  กล้วยไข่ทองร่วง  กล้วยไข่จีน  กล้วยน้ำนม  กล้วยไล  กล้วยสา  กล้วยหอม  กล้วยหอมจำปา   กล้วยทองกาบดำ
กลุ่ม AAA
          กล้วยกลุ่มนี้มีจำนวนโครโมโซม 2n = 33 ผลจึงมีขนาดใหญ่กว่ากลุ่มแรก รูปร่างผลเรียวยาว มีเนื้อนุ่ม รสหวาน กลิ่นหอม   รับประทานสดเช่นกันได้แก่  กล้วยหอมทอง  กล้วยนาก  กล้วยครั่ง  กล้วยหอมเขียว  กล้วยกุ้งเขียว  กล้วยหอมแม้ว  กล้วยไข่พระตะบอง  กล้วยคลองจัง
กลุ่ม BB
          ในประเทศไทยจะมีแต่กล้วยตานี  ซึ่งเป็นกล้วยป่าชนิดหนึ่ง แต่ไม่ได้มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย  รับประทานผลอ่อนได้   โดยนำมาใส่แกงเผ็ด  ทำส้มตำ ไม่นิยมรับประทานผลแก่  เพราะมีเมล็ดมาก  แต่คนไทยและคนเอเชียส่วนใหญ่รับประทานปลีและหยวก ไม่มีกล้วยกินได้ในกลุ่ม  BB  ในประเทศไทย แต่พบว่ามีที่ประเทศฟิลิปปินส์
กลุ่ม BBB
          กล้วยในกลุ่มนี้เกิดจากกล้วยตานี (Musa balbisiana)  เนื้อไม่ค่อยนุ่ม  ประกอบด้วยแป้งมาก เมื่อสุกก็ยังมีแป้งมาก อยู่   จึงไม่ค่อยหวาน ขนาดผลใหญ่  เมื่อนำมาทำให้สุกด้วยความร้อน จะทำให้รสชาติดีขึ้น เนื้อเหนียวนุ่ม เช่น กล้วยเล็บช้างกุด
กลุ่ม AAB
กลุ่ม ABB
          กล้วยกลุ่มนี้เป็นลูกผสมระหว่างกล้วยป่ากับกล้วยตานี  มีแป้งมาก ขนาดผลใหญ่  ไม่นิยมรับประทานสด  เพราะเมื่อสุกรสไม่หวานมาก  บางครั้งมีรสฝาด  เมื่อนำมาต้ม  ปิ้ง  ย่าง  และเชื่อม  จะทำให้รสชาติดีขึ้น ได้แก่  กล้วยหักมุกเขียว  กล้วยหักมุกนวล  กล้วยเปลือกหนา  กล้วยส้ม  กล้วยนางพญา  กล้วยนมหมี  กล้วยน้ำว้า  สำหรับกล้วยน้ำว้าแบ่งออกเป็น ๓  ชนิด  ตามสีของเนื้อ  คือ  น้ำว้าแดง  น้ำว้าขาว  และน้ำว้าเหลือง  คนไทยรับประทานกล้วยน้ำว้าทั้งผลสด  ต้ม  ปิ้ง  และนำมาประกอบอาหาร  นอกจากนี้ยังมีกล้วยน้ำว้าดำ ซึ่งเปลือกมีสีครั่งปนดำ แต่เนื้อมีสีขาว  รสชาติอร่อยคล้ายกล้วยน้ำว้าขาว  สำหรับกล้วยตีบเหมาะที่จะรับประทานผลสด  เพราะเมื่อนำไปย่าง หรือต้มจะมีรสฝาด

          กล้วยกลุ่มนี้เกิดจากการผสมระหว่างกล้วยป่ากับกล้วยตานี  เมื่อผลสุกมีรสชาติดีกว่ากล้วยกลุ่ม ABB  ได้แก่ กล้วยน้ำ      กล้วยน้ำฝาด  กล้วยนมสวรรค์  กล้วยนิ้วมือนาง  กล้วยไข่โบราณ  กล้วยทองเดช  กล้วยศรีนวล  กล้วยขม  กล้วยนมสาว  แต่มีกล้วยกลุ่ม AAB  บางชนิดที่มีความคล้ายกับ ABB กล่าวคือ เนื้อจะค่อนข้างแข็ง  มีแป้งมาก  เมื่อสุกเนื้อไม่นุ่ม  ทั้งนี้อาจได้รับเชื้อพันธุกรรมของกล้วยป่าที่ต่าง  sub species กัน  จึงทำให้ลักษณะต่างกัน  กล้วยในกลุ่มนี้เรียกว่า  plantain  subgroup  ซึ่งจะต้องทำ ให้สุกโดยการต้ม ปิ้ง เผา  เช่นเดียวกับกลุ่ม ABB  ได้แก่  กล้วยกล้าย  กล้วยงาช้าง  กล้วยนิ้วจระเข้  กล้วยหิน  กล้วยพม่าแหกคุก
กลุ่ม ABBB
          กล้วยในกลุ่มนี้เป็นลูกผสมเช่นกันจึงมีแป้งมาก  และมีอยู่พันธุ์เดียวคือ  กล้วยเทพรส  หรือกล้วยทิพรส  ผลมีขนาดใหญ่มาก  บางทีมีดอกเพศผู้หรือปลี  บางทีไม่มี  ถ้าหากไม่มีดอกเพศผู้  จะไม่เห็นปลี  และมีผลขนาดใหญ่  ถ้ามีดอกเพศผู้  ผลจะมีขนาดเล็กกว่า  มีหลายหวีและหลายผล  การมีปลีและไม่มีปลีนี้เกิดจากการกลายพันธุ์แบบกลับไปกลับมาได้  ดังนั้นจะเห็นว่าในกอเดียวกันอาจมีทั้งกล้วยเทพรสมีปลี และไม่มีปลี  หรือบางครั้งมี  ๒ - ๓  ปลี  ในสมัยโบราณเรียกกล้วยเทพรสที่มีปลีว่า กล้วย  ทิพรส กล้วยเทพรสที่สุกงอมจะหวาน  เมื่อนำไปต้มมีรสฝาด
กลุ่ม AABB
          เป็นลูกผสมมีเชื้อพันธุกรรมของกล้วยป่ากับกล้วยตานี กล้วยในกลุ่มนี้มีอยู่ชนิดเดียวในประเทศไทย  คือ  กล้วยเงิน ผลขนาดใหญ่รูปร่างคล้ายกล้วยไข่  เมื่อสุกผิวสีเหลืองสดใส  เนื้อผลสีส้ม  มีแป้งมาก  รับประทานผลสด

          นอกจากกล้วยดังที่ได้กล่าวแล้วยังมีกล้วยป่าที่เกิดในธรรมชาติซึ่งมีเมล็ดมาก ทั้งกล้วยในสกุล Musa acuminata  และ  Musa  itinerans หรือที่เรียกว่า  กล้วยหก  หรือกล้วยอ่างขาง  และกล้วยป่าที่เป็นกล้วยประดับ  เช่น  กล้วยบัวสีส้ม  และกล้วยบัวสีชมพู

ปัจจุบันพันธุ์กล้วยที่สำคัญของไทย ได้แก่ กล้วยน้ำว้า ปลูกกันมากที่สุดในจังหวัดเลย หนองคาย และระนอง ตามลำดับ รองลงมาได้แก่กล้วยไข่ ซึ่งปลูกกันมากที่สุดที่จังหวัดกำแพงเพชร ตาก และนครสวรรค์


ไม่มีความคิดเห็น: