วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2555

นิสิต กับ นักศึกษาต่างกันอย่างไร ?

นักศึกษา น. ผู้มีความรู้สอบไล่ได้ไม่ตํ่ากว่ามัธยมศึกษาตอนปลายตามหลักสูตร ของกระทรวงศึกษาธิการหรือมีความรู้ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ เทียบเท่า ซึ่งเข้ารับการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา.

นิสิต น. ผู้ที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยบางแห่ง เช่น นิสิตจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์; ศิษย์ที่เล่าเรียน อยู่ในสํานัก, ผู้อาศัย. (ป. นิสฺสิต).

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒

นิสิต-นักศึกษา
สงสัยไหมว่า คำว่า นิสิต กับ นักศึกษา แตกต่างกันอย่างไร ทำไมบางมหาวิทยาลัย เช่น จุฬาลงกรณ์ ม.นเรศวร จึงเรียกผู้ที่กำลังศึกษาว่านิสิต แต่มหาวิทยาลัย/สถาบันอื่นใช้นักศึกษา และคำว่านิสิตมีความหมาย ประวัติความเป็นมา หลักเกณฑ์ที่จะใช้อย่างไร
คำเรียก "นิสิต" และ "นักศึกษา" เริ่มมาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งมีบัญญัติคำเพื่อเรียกบุคคลที่เข้าเรียนใน 2 ลักษณะที่แตกต่างกัน อาจารย์สวัสดิ์ จงกล ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ประจำหอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึง 2 คำนี้ไว้ว่า ในอดีตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดสอนทั้งเยาวชนที่เป็นเด็กนักเรียนทั่วไป และผู้ใหญ่ที่ทำงานแล้วเข้ามาเรียนเพื่อเพิ่มคุณวุฒิ จึงต้องมีการเรียกสถานภาพของผู้เรียนให้ต่างกัน

นิสิต" แปลว่าผู้อาศัย ครั้งกระโน้นนักเรียนที่มาเรียนจุฬาฯ ถือว่าอยู่นอกเมือง คนที่มาเรียนส่วนใหญ่ก็จะมาอยู่หอพักมหาวิทยาลัย เรียกเป็นนิสิต นอกจากนี้การเรียนการสอนในบางคณะ เช่น คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ต้องอาศัยห้องทดลองห้องปฏิบัติการ โรงฝึกงานต่างๆ ไม่เพียงเรียนภาคทฤษฎี สอดคล้องต่อคำเรียกนิสิต อันความหมายหนึ่งแปลว่าศิษย์ที่เล่าเรียนอยู่ในสำนัก
ส่วน "นักศึกษา" ซึ่งจุฬาฯ มีมาตั้งแต่ พ.ศ.2473 เป็นศัพท์เรียกผู้มาเรียนเพิ่มวุฒิ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ทำงานแล้ว บางเวลาเรียนก็ไม่อาจเข้าฟังบรรยายได้เนื่องจากต้องทำงานประจำ และไม่ได้พักอาศัยในมหาวิทยาลัย ต่อมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งตั้งภายหลัง ใช้คำว่านักศึกษาสำหรับทุกบุคคลที่เข้าเรียน เรียกว่าเป็นผู้ที่มาศึกษา ทำให้เกิดคำว่านักศึกษาขึ้นอย่างกว้างขวาง เป็นนักศึกษาอาศัยตำราเรียนเป็นหลักไม่ต้องฟังบรรยายปัจจุบันมหาวิทยาลัยที่ใช้คำเรียกนิสิตมีอยู่ 3 สถาบัน คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งทั้งสองมหาวิทยาลัยหลัง ผู้เรียนในสมัยก่อนต้องอาศัยอยู่หอพักเช่นกัน เพราะมหาวิทยาลัยอยู่นอกเมืองเช่นเดียวกับจุฬาฯ ในอดีต สำหรับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ถ้ามองในแง่ความหมายแล้วการศึกษาของเกษตรฯ ต้องอาศัยห้องทดลอง ห้องปฏิบัติการเหมือนกัน แล้วก็มีหอพักให้ผู้ที่เรียนได้อาศัย จึงใช้คำว่านิสิต
กรณีของมหาวิทยาลัยนเรศวร เรียกนิสิตสืบเนื่องจากครั้งยังเป็นวิทยาเขตหนึ่งของศรีนครินทรวิโรฒ (วิทยาเขตพิษณุโลก) ซึ่งทุกวิทยาเขตใช้คำเรียกนิสิตตามวิทยาเขตแรกคือมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร (ซึ่งอยู่ชานกรุงเทพฯ ยุคโน้น) ผู้มาเรียนอยู่กินนอนอยู่ในมหาวิทยาลัย ปัจจุบันเมื่อทุกวิทยาเขตเป็นอิสระ บางแห่งอาจคงคำเรียกนิสิต บางแห่งอาจใช้คำนักศึกษาแทน แต่ถ้าแต่เมื่อใดก็ตามที่ใช้ มศว นำหน้าก็ใช้คำว่า นิสิต
สรุป ความหมายตามจำกัดความของพจนานุกรมฉบับมติชน พ.ศ.2547 "นิสิต" คือผู้อาศัย, ศิษย์ที่เล่าเรียนอยู่ในสำนัก, ผู้ที่ศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษามหาวิทยาลัยบางแห่ง เช่น นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย "นักศึกษา" คือ ผู้เข้ารับการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา

ว่าด้วยข้อถกเถียง นิสิต นักศึกษา
บ่อยครั้งที่กระทู้ในโต๊ะห้องสมุดจะมีข้อถกเถียงเรื่องที่มาของคำว่า “นิสิต” และ “นักศึกษา” โดยมากมักตั้งคำถามกันว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร สถาบันใดที่ใช้คำว่านิสิตบ้าง เป็นต้น ก่อนจะตอบคำถามเหล่านั้นก็ควรจะมาดูก่อนว่าคำว่า “นิสิต” หมายถึงอะไร และสถาบันใดบ้างที่ใช้คำว่า “นิสิต” คำว่า “นิสิต” นั้นเป็นภาษาบาลี แปลว่า “ผู้อาศัยกับอุปัชฌาย์” เนื่องจากแต่เดิมสถาบันการศึกษาระดับสูงมักมีหอพักให้ผู้เรียนได้พักอาศัยภายในสถาบัน ประกอบกับความนิยมภาษาบาลีด้วยจึงได้ใช้คำนี้โดยทั่วไป จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ก่อตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเริ่มแรกเป็นโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราวุธ ได้สถาปนาขึ้นเป็น “จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย” และปรากฏใช้คำว่า “นิสิต” สำหรับนิสิตชาย และ “นิสิตา” สำหรับนิสิตหญิง ต่อมาจึงได้เปลี่ยนมาใช้คำว่า “นิสิต” เพียงคำเดียวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็ก่อตั้งขึ้นโดยที่ค่านิยมภาษาบาลีสันสกฤตยังเป็นที่นิยมและมีหอพักให้ผู้เรียนภายในสถาบันเช่นเดียวกัน จึงใช้คำว่า “นิสิต” มาตั้งแต่แรกเริ่ม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ นับเป็นสถาบันการศึกษาที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของไทย เริ่มต้นจากการเป็น “โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงถนนประสานมิตร” ต่อมาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น “วิทยาลัยวิชาการศึกษา” นับเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกของไทยที่สามารถเปิดสอนวิชาชีพครูได้ถึงระดับปริญญา (ก่อนจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย) โดยมีทั้งสิ้น ๘ แห่งทั่วประเทศ และทุกแห่งก็ใช้คำว่า “นิสิต” เหมือนกันหมด ภายหลังวิทยาลัยวิชาการศึกษาทั้ง ๘ แห่ง ก็ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น “มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ” (อ่านว่า สี-นะ-คะ-ริน-วิ-โรด)

ทั้ง ๓ มหาวิทยาลัย (๗ มหาวิทยาลัย) ใช้คำว่า “นิสิต” ด้วยเหตุผลเดียวกัน คือ มีหอพักให้ผู้เรียนอยู่ภายในสถาบันในสมัยที่ประชาธิปไตยพยายามจะเบ่งบาน มีการก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง (ธรรมศาสตร์ หมายถึง วิชาว่าด้วยกฎหมาย) เป็นมหาวิทยาลัยเปิด ไม่มีหอพักให้ผู้เรียน จึงสร้างคำใหม่ขึ้นมาเพื่อให้เป็น “ไทย ๆ” มากขึ้น จึงใช้คำว่า “นักศึกษา”
มหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้นภายหลังหลาย ๆ แห่ง แม้จะมีหอพักนักศึกษาอยู่ภายในมหาวิทยาลัย แต่ก็ไม่นิยมใช้คำว่า “นิสิต” เหมือนมหาวิทยาลัย “โบราณ” ที่ก่อตั้งมานานแล้วทั้งหลาย จึงหันไปใช้คำว่า “นักศึกษา” เหมือนกันแทบทุกแห่ง แม้แต่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เอง แต่เดิมก็ใช้คำว่า “นิสิต” แต่ภายหลังอธิการบดีท่านหนึ่งซึ่งเป็นนายแพทย์ ก็ได้เปลี่ยนคำว่า “นิสิต” มาเป็นคำว่า “นักศึกษา” ดังนั้น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เองก็นับเป็นมหาวิทยาลัยที่เคยใช้คำว่า “นิสิต” มาก่อน

ไม่มีความคิดเห็น: