วันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ตำนานกาแฟ ตอน ข้อควรระวังในการดื่ม “กาแฟ




ยกตัวอย่างงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนว่า ศูนย์วิจัยกับบริษัทขายกาแฟมีความเกี่ยวพันกันอยู่ นั่นคือนักวิจัยของศูนย์วิจัยในสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีบริษัทขายกาแฟรายใหญ่ของโลก ระบุว่ากาแฟมีสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าชาเขียวถึง 4 เท่า และยังมากกว่าโกโก้ ชาสมุนไพร และไวน์แดง
      
       เหตุที่กาแฟมีสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่า อาจเป็นเพราะเราดื่มกาแฟกันมากกว่าเครื่องดื่มอื่นๆ อย่างไรก็ตาม สารต้านอนุมูลอิสระในกาแฟแต่ละถ้วยและแต่ละยี่ห้อก็ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับชนิดของกาแฟ
      
       กาแฟพันธุ์โรบัสต้า มีสารต้านอนุมูลอิสระและกาเฟอีนมากกว่าพันธุ์อราบิก้าประมาณ 2 เท่า ซึ่งเป็นผลมาจากวิธีการคั่วกาแฟ ปริมาณกาแฟที่ชงในแต่ละถ้วย วิธีการชงกาแฟ และระยะเวลาที่ใช้
      
       แม้ว่าสารต้านอนุมูลอิสระจะมีผลดี แต่ก็มาคู่กับกาเฟอีน ซึ่งมีข้อควรระวังและข้อควรคำนึงอีกหลายประการหากรักที่จะดื่มกาแฟ
      
       
นอกจากกาเฟอีนจะพบได้ในเมล็ดกาแฟแล้ว ยังสามารถพบได้ในใบชา โกโก้ ช็อคโกแลต น้ำอัดลมสีดำ เครื่องดื่มบำรุงกำลัง และยาบางชนิด เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้ปวด และยาลดน้ำหนัก เป็นต้น ดังนั้นควรคำนวณให้ดีว่าในแต่ละวัน คุณได้รับกาเฟอีนจากแหล่งใดบ้าง เพราะอาจทำให้ร่างกายได้รับกาเฟอีนมากเกินควร
      
       
กาเฟอีนเป็นสารกระตุ้น มีผลต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น เพิ่มความดันโลหิต และทำให้หัวใจเต้นผิดปกติในบางครั้ง
      
       งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยโตรอนโตพบว่า การดื่มกาแฟปริมาณมากอาจเพิ่มความเสี่ยงหัวใจวายเฉียบพลันในผู้ที่มียีนขจัดกาเฟอีนช้า ทำให้กาเฟอีนอยู่ในกระแสเลือดนานขึ้น แต่สำหรับคนที่มียีนปกติที่ขจัดกาเฟอีนได้เร็ว กาแฟก็จะไม่มีผล
      
       อย่างไรก็ตาม นักวิจัยเชื่อว่าการดื่มเพียงวันละ 1-2 ถ้วย (1 ถ้วยมาตรฐานมีขนาดประมาณ 150-180 มิลลิลิตร) จะไม่มีผลต่อการเกิดหัวใจวายเฉียบพลันไม่ว่าจะมียีนแบบไหน แต่การดื่มวันละ 4 ถ้วยขึ้นไปไม่ให้ผลดี ดังนั้นควรดื่มแต่พอควร เพราะปัจจุบันการตรวจยีนยังไม่ได้มีใช้กันเหมือนการตรวจสุขภาพทั่วไป และยีนที่แตกต่างกันทำให้ผลการวิจัยทางโภชนาการที่สัมพันธ์กับโรคต่างๆ มีข้อมูลขัดแย้งกันจนเกิดความสับสน
      
       ส่วนผลของกาแฟต่อสุขภาพผู้หญิงก็ยังไม่มีผลวิจัยชัดเจนว่าจะเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านมและซีสต์ในเต้านมหรือไม่ การเดินสายกลางจึงดีที่สุด
      
       ผู้ที่ดื่มกาแฟชนิดสกัดกาเฟอีนอาจคิดว่าปลอดภัย แต่นักวิจัยเตือนว่า กาแฟสกัดกาเฟอีนอาจเพิ่มระดับกรดไขมันในเลือดให้สร้างแอลดีแอลซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลตัวร้ายได้ เพราะในกระบวนการสกัดกาเฟอีนจะสกัดเอาสารฟลาโวนอยด์ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและสารอื่นๆ ที่ให้รสชาติกาแฟแท้ๆ ออกไปด้วย นอกจากจะอร่อยน้อยลงแล้ว ยังอาจมีผลเสียต่อสุขภาพได้
      
       หากจะเลือกกาแฟสกัดกาเฟอีน ควรเลือกชนิดที่ใช้กระบวนการสกัดธรรมชาติ และควรระวังสิ่งที่เติมลงไปในกาแฟ เช่น ครีม นมไขมันเต็ม น้ำตาล น้ำผึ้ง เพราะเท่ากับเติมพลังงานส่วนเกิน
      
       สำหรับผู้ที่ดื่มกาแฟเพราะต้องการแก้ง่วง นักวิจัยแนะนำให้ดื่มปริมาณน้อยๆ แต่กระจายการดื่มออกไปตลอดวัน เช่น แทนที่จะดื่มถ้วยใหญ่ 500 มิลลิลิตรในตอนเช้า ให้ดื่มเพียงครั้งละ 60-90 มิลลิลิตร แต่บ่อยขึ้น
      
       กาแฟจะถูกดูดซึมอย่างรวดเร็วหลังจากที่เราดื่ม โดยจะเริ่มออกฤทธิ์ใน 15 นาทีและอยู่ในร่างกายนานหลายชั่วโมง และต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าจะถูกขจัดออกจากร่างกายจนหมด
      
       หญิงตั้งครรภ์และผู้ที่กินยาคุมกำเนิดจะมีการขับกาแฟน้อยกว่าคนทั่วไป ส่วนผู้ที่สูบบุหรี่จะมีการขับกาแฟมากกว่าผู้ที่ไม่สูบ ดังนั้นคนที่สูบบุหรี่หากต้องการการกระตุ้นของกาแฟจะต้องดื่มกาแฟบ่อยกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่
      
       องค์การอนามัยโลกระบุว่าไม่มีหลักฐานว่ากาแฟจะเป็นสารเสพติด การดื่มกาแฟจะเป็นนิสัยมากกว่าเสพติด เนื่องจากไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณของกาแฟ และเมื่อหยุดกาแฟบางคนก็เกิดอาการปวดหรือมึนศีรษะเพียงเล็กน้อย ดังนั้นหากใครคิดจะเลิกดื่มกาแฟก็ไม่น่าจะมีปัญหา
      
       สำหรับผู้ที่ไม่ดื่มกาแฟอยู่แล้ว ก็ไม่มีเหตุผลที่จะหันมาดื่มเพียงเพื่อต้องการผลดีจากกาเฟอีน โดยเฉพาะคนที่ร่างกายไวต่อกาแฟ การดื่มอาจยิ่งเพิ่มผลเสีย เช่น หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น กระวนกระวาย นอนไม่หลับ กระเพาะหลั่งกรดออกมามากเกินควรทำให้ปวดท้อง และหากดื่มปริมาณมากก็จะเป็นสารขับปัสสาวะ ทำให้ร่างกายเสียน้ำมากขึ้นได้ ดังนั้นจึงควรดื่มน้ำตามไปชดเชยด้วย 

ไม่มีความคิดเห็น: