วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ตำนานกาแฟ ตอน วัฒนธรรมการกินกาแฟของไทย






กาแฟไทยโบราณ คำว่า “กาแฟ” เป็นคำสมัยใหม่ แรกเริ่มเดิมทีคนไทยเรียกเจ้าเครื่องดื่มที่มีรสชาติขมนี้ว่า “ข้าวแฝ่” แผลงมาจากคำว่า coffee (ปรากฏในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอบรัดเลย์ ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2416 ว่า “กาแฝ่” คือต้นไม้อย่างหนึ่ง มาแต่เมืองนอก เม็ดมันต้มน้ำร้อนกินคล้ายใบชา )

มีบันทึกว่ากาแฟเข้ามาในเมืองไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยมีข้อความปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุของฝรั่งที่เข้ามาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ว่า “พวกแขกมัวร์ชอบดื่มกาแฟมาก แต่คนไทยยังไม่ค่อยนิยมดื่ม เพราะมีรสขมจนคิดว่าเป็นยาไปด้วยซ้ำ เพิ่งจะมาแพร่หลายจริงจัง นิยมปลูก และนิยมดื่มกันก็เมื่อล่วงเข้าสู่สมัยรัตนโกสินทร์แล้ว

ในสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งร้านกาแฟชื่อ”นรสิงห์” ขึ้นบริเวณถนนศรีอยุธยา ริมลานพระบรมรูปทรงม้า และได้รับความนิยมจากข้าราชการ พ่อค้า และประชาชนทั่วไป ที่ทำให้ต่อมาได้มีการตั้งร้านกาแฟขึ้นอีกหลายร้าน ร้านที่ได้รับความนิยม และมีชื่อเสียงมาจนถึงปัจจุบันนี้ ได้แก่ ออนล็อกหยุ่น เอี๊ยะแซ ฯลฯ




เดิมที “การดื่มกาแฟเคยเป็นวัฒนธรรมของชนชั้นสูงมาก่อน แล้วจึงค่อยแพร่มาสู่ชนชั้นกลางและประชาชนทั่วไป ในยุคที่วัฒนธรรมการดื่มกาแฟแพร่หลายมาถึงคนในระดับล่าง มีร้านกาแฟปรากฏขึ้นทั่วไป ในบริเวณที่เป็นชุมชนหรือตลาดที่มีคนมากๆ การมานั่งดื่มกาแฟในตอนเช้า ของกลุ่มคนคุ้นเคยในละแวกบ้านเดียวกัน พร้อมทั้งพูดคุยถกปัญหาประจำวันไปมากๆ ได้กลายมาเป็นวัฒนธรรมที่เรียกว่า “สภากาแฟ” ที่รู้จักกันโดยทั่วไป สภากาแฟหรือสังคมร้านกาแฟที่จะต้องมีองค์ประกอบหลักอยู่ 3 สิ่งด้วยกันคือ เครื่องดื่ม คนกิน(ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป) และพื้นที่หรือร้านกาแฟนั่นเอง

ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมานี้ รูปแบบของร้านกาแฟได้เปลี่ยนไปและได้เข้ามามีบทบาทในการกำหนดรูปแบบ หรือดีไซน์ให้กับร้านกาแฟ รวมถึงบรรยากาศ ในลักษณะของการสร้างเอกลักษณ์ภายในร้านเพื่อโยงเข้ากับรสนิยมการบริโภค การตกแต่งร้านให้มีบรรยากาศสบายๆ เครื่องไม้เครื่องมือทันสมัย โต๊ะเก้าอี้ โซฟา ที่สามารถนั่งเอกเขนก มีความเป็นส่วนตัวสูง ทำบรรยากาศให้เหมือนห้องรับแขกภายในบ้าน จึงทำให้ร้านกาแฟในยุคนี้ ถูกเรียกขานว่าเป็นบ้านหลังที่ 3 หรือ third place รองจากบ้าน และที่ทำงาน ตัวอย่างของร้านกาแฟในรุปแบบนี้ ก็เช่น ร้าน Starbucks หรือ au bon pain

จุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมการดื่มกาแฟและร้านกาแฟก็คงมาจากฝรั่งเศส และอิตาลี ในฝรั่งเศส มี คาเฟ่อินปารีส ซึ่งเป็นที่สิงสถิตย์ของกวี นักปรัชญา นักประพันธ์ ทั้งหลายใช้เป็นสถานที่ทำงาน สุมหัว ถกเถียงหรือนัดหารือพบปะสังสรรค์แลกเปลี่ยนความคิด ทรรศนะ หรือแลกเปลี่ยนผลงานซึ่งกันและกัน จนเกิดเป็นสังคมร้านกาแฟขึ้น ส่วนอิตาลีเป็นแม่แบบเรื่องการผลิตเครื่องชงกาแฟ และเครื่องดื่มเอสเปรสโซ่ แต่ตลาดกาแฟที่ใหญ่ที่สุดในโลกยังคงเป็นประเทศอเมริกา และเป็นที่ถือกำเนิดร้านกาแฟในนาม Starbucks อีกด้วย

ย่านร้านกาแฟในกรุงเทพฯที่สำคัญก็ได้แก่ แถวหลังสวน ทองหล่อ เอกมัย เพลินจิต ชิดลม สีลมและ สาทร อันนี้เป็นส่วนของร้านกาแฟสมัยใหม่ แต่หากเป็นร้านกาแฟโบราณ ต้องเป็นย่านถนนพระอาทิตย์ ถนนหน้าพระลาน และบริเวณโดยรอบเกาะรัตนโกสินทร์
ย่านร้านกาแฟตามหัวเมืองใหญ่ต่างจังหวัด เช่น เชียงใหม่ ก็จะเป็นบริเวณถนนนิมมานเหมินทร์ทั้งเส้น ,หัวหิน ,ตลาดอัมพวา ,พัทยา ,ป่าตอง ภูเก็ต

และไม่ว่าโลกจะเจริญทันสมัยขึ้นเพียงใด วัฒนธรรมการดื่มกาแฟ สังคมของคนชอบดื่มกาแฟ ไม่เคยเปลี่ยนไป และนับวันจะพัฒนาให้ทันสมัยขึ้นไปตามกาลเวลา ปัจจุบัน มีร้านกาแฟรูปแบบใหม่ๆที่เน้นอุปกรณ์ความสะดวกในการสื่อสารครบครัน ทั้ง 3G Wifi เช่น True Coffee , Mc Café , Starbucks , บ้านไร่กาแฟ, Vavi เป็นต้น แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงเหมือนเดิม ก็คือพฤติกรรมของผู้คนที่ชอบมานั่งพูดคุย พบปะสังสรรค์ มาละเลียด ดื่ม ชิม จิบกาแฟ พูดคุยกันอย่างออกรสชาติ ในบรรยากาศชิลล์ๆ ไม่อยากรับรู้ หลีกลี้ความเร่งรีบแข่งขันของผู้คนภายนอกร้าน เพราะนี่คือโลกส่วนตัวหลังที่ 3 ที่คุณจะหาไม่ได้จากที่ไหนอีกแล้ว เป็นการปิดกั้นการรับรู้จากโลกภายนอกชั่วคราว อย่างลงตัวที่สุด

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ฝีมือในการหาข้อมูล สุดยอดมาก นับถือๆๆ สู้ต่อไป ทาเคชิ//พี่วิทย์