วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ตำนานกาแฟ ตอน ดื่มกาแฟอย่างไร ไม่เสียสุขภาพ



เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา กาแฟและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนถูกโจมตีว่าทำให้เกิดโรคหัวใจ ความดันโลหิต เป็นหมัน ทำให้ผู้หญิงตั้งครรภ์แท้งได้ หรือทารกน้ำหนักน้อย เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งรังไข่ ซีสต์ในเต้านม และกระดูกพรุน แต่ข้อมูลการวิจัยในปัจจุบันเปิดเผยว่าการดื่มกาแฟเพียงวันละ 1-2 ถ้วยนั้นปลอดภัย และอาจให้ผลดี ถ้าดื่มให้เป็น

          รายงานผลการวิจัยจากฟินแลนด์และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดระบุว่า คนที่ดื่มกาแฟมีความเสี่ยงการเกิดเบาหวานประเภท 2 น้อยกว่าคนที่ไม่ดื่ม ความเสี่ยงที่ลดลงเป็นสัดส่วนกับปริมาณกาแฟที่ดื่ม และกาแฟไร้คาเฟอีนให้ผลน้อยกว่า ส่วนชาไร้คาเฟอีนและเครื่องดื่มอื่นๆ ที่มีคาเฟอีนไม่ให้ผลเหมือนกาแฟ แต่นักวิจัยก็เตือนว่าอย่าเพิ่งมั่นใจจนหันไปโหมกาแฟ เพราะนักวิจัยยังต้องติดตามการวิจัยอีกมาก
         
          นอกจากนี้กาแฟยังยังช่วยลดความเสี่ยงการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี มะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคพาร์คินสัน ลดอันตรายจากตับในผู้ที่มีความเสี่ยงโรคตับ ลดอาการหอบในผู้ที่มีโรคหอบหืด เพิ่มความจำ และสำหรับนักกีฬาเพิ่มความทน และความอึดในกีฬาที่ต้องใช้เวลานาน

          สำหรับผู้ที่ดื่มกาแฟเพราะต้องการแก้ง่วง นักวิจัยแนะนำให้ดื่มปริมาณน้อยๆ แต่กระจายการดื่มออกไปตลอดวัน เช่น แทนที่จะดื่มถ้วยใหญ่ 16 ออนซ์ (500 มล.) ในตอนเช้า ให้ดื่มเพียงครั้งละ 2-3 ออนซ์ (60-90 มล) แต่บ่อยขึ้น กาแฟจะเริ่มออกฤทธิ์ใน 15 นาที และจะอยู่ในร่างกายนานหลายชั่วโมง และต้องใช้เวลาถึง 6 ชั่วโมงกว่า ที่จะถูกขจัดออกจากร่างกาย

ข้อควรระวังในกาแฟ
          คอกาแฟอย่าเพิ่งย่ามใจกับข้อมูลด้านดีๆ เพราะองค์ประกอบหลักของกาแฟ คือ สารคาเฟอีนซึ่งเป็นเป็นสารกระตุ้น จึงมีผลต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจพอสมควร โดยทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น เพิ่มความดันโลหิต และทำให้หัวใจเต้นผิดปกติในบางครั้ง งานวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัยโทรอนโทเปิดเผยว่า การดื่มกาแฟมากอาจเพิ่มความเสี่ยงหัวใจวายเฉียบพลัน ในผู้ที่มียีนขจัดคาเฟอีนช้า ทำให้คาเฟอีนอยู่ในกระแสเลือดนานขึ้น แต่สำหรับคนที่มียีนปกติที่ขจัดคาเฟอีนได้เร็วกาแฟก็จะไม่มีผล

          ถึงอย่างไรนักวิจัยก็เชื่อว่าการดื่มเพียง 1-2 ถ้วยจะไม่มีผลต่อการเกิดหัวใจวายเฉียบพลันไม่ว่ามียีนอย่างไร แต่การดื่มวันละ 4 แก้วขึ้นไปไม่ให้ผลดีขึ้น ดังนั้น ควรดื่มแต่พอควร เพราะปัจจุบันการตรวจยีนยังไม่ได้มีใช้กันเหมือนการตรวจสุขภาพทั่วไป และยีนที่แตกต่างกันทำให้ผลการวิจัยทางโภชนาการที่สัมพันธ์กับโรคต่างๆ ที่ออกมามีข้อมูลขัดแย้งกันจนเกิดความสับสน

          ส่วนผลของกาแฟต่อสุขภาพผู้หญิงก็ยังไม่มีผลวิจัยชัดเจน ว่าจะเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านม ซีสต์ในเต้านมหรือกระดูกพรุนหรือไม่ การเดินสายกลางจึงดีที่สุด ผู้ที่ดื่มกาแฟสกัดคาเฟอีน อาจคิดว่าปลอดภัย แต่นักวิจัยเตือนว่า กาแฟสกัดคาเฟอีนอาจเพิ่มระดับกรดไขมันในเลือดให้สร้างแอลดีแอล ซึ่งเป็นคอเลสเทอรอลตัวร้ายได้ เพราะในกระบวนการสกัดคาเฟอีนจะสกัดเอาสารเฟลโวนอยด์ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและสารอื่นๆ ที่ให้รสชาติกาแฟแท้ๆ ออกไปด้วย นอกจากจะอร่อยน้อยลงแล้วยังมีผลเสียต่อสุขภาพอีกด้วย

ข้อควรปฎิบัติ

          เลี่ยงกาแฟที่ใช้หม้อต้มแบบสไตล์สแกนดิเนเวีย เพราะจะมีสารไดเทอร์พีนสูง เพิ่มระดับคอเลสเทอรอลในเลือด ควรเลือกกาแฟสำเร็จรูปที่ละลายน้ำ หรือชนิดกรองหยด และเอสเพรสโซ ซึ่งจะมีผลน้อยกว่า

          ถ้าต้องเลือกกาแฟสกัดคาเฟอีน ควรเลือกชนิดที่ใช้ กระบวนการสกัดธรรมชาติ (Swiss Water Process)

          สำหรับผู้ที่เลี่ยงกาแฟอยู่แล้ว ไม่ควรหันมาดื่มเพียงเพื่อต้องการผลดีจากคาเฟอีน โดยเฉพาะคนที่ร่างกายไวต่อกาแฟ การดื่มอาจยิ่งเพิ่มผลเสีย เช่น หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตสูงขึ้น กระวนกระวาย นอนไม่หลับ กระเพาะหลั่งกรดออกมามากเกินควร ทำให้ปวดท้อง และเป็นสารขับปัสสาวะทำให้ร่างกายเสียน้ำมากขึ้น ดังนั้นทุกครั้งที่ดื่มกาแฟควรดื่มน้ำตามไปชดเชยด้วย

ระวังสิ่งที่เติมลงในกาแฟ

          เช่น ครีม นมไขมันเต็ม น้ำตาล น้ำผึ้ง เพราะเท่ากับเติมพลังงานส่วนเกิน กาแฟมาตรฐาน 1 ถ้วย มีขนาด 5-6 ออนซ์หรือ 150-180 มล. แต่ที่ขายโดยทั่วไปนั้นมีขนาด 12 ออนซ์หรือ 360 มล . ซึ่งมากกว่าถึง 2 เท่า ดังนั้น ควรจำกัดการดื่มให้ไม่เกิน 5 ถ้วย ซึ่งเป็นปริมาณที่ใช้ในการศึกษาวิจัย

          สารคาเฟอีนเป็นสารธรรมชาติที่พบในอาหารอื่นด้วย เช่น ใบชา เมล็ดโคลา โกโก้ ช็อคโกแลต น้ำอัดลมสีดำ และยาบางชนิด ซึ่งอาจทำให้ร่างกายได้รับคาเฟอีนเกินควร จึงต้องตรวจสอบพฤติกรรมของตัวเองเสมอ

ไม่มีความคิดเห็น: