วันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ตำนานกาแฟ ตอน การดื่มกาแฟของคนไทย

กาแฟเข้ามาในบ้านเราได้ยังไง สำหรับในบ้านเรายังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอนว่า กาแฟถูกนำเข้ามาเพาะปลูกในประเทศไทยเมื่อใด แต่ได้รับความนิยมตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและเป็นที่นิยม มากขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 หลังจากที่ได้มีนักเรียนไทยไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ และนำวัฒนธรรมการดื่มกาแฟกลับมาเมื่อจบการศึกษา ว่ากันว่า มีการพบต้นกาแฟรุ่นแรกพันธุ์โรบัสตา ซึ่งนำพันธุ์มาจากเมืองเมกกะ โดยนายตี้หมุน ชาวไทยอิสลามนำกลับมา หลังจากการเดินทางไปแสวงบุญ โดยนำมาปลูกที่ตำบลบ้านโหนดอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ประมาณอายุได้ว่า นำเข้ามาปลูกเมื่อประมาณ      พ.ศ.2447 ส่วนกาแฟในภาคตะวันออก สันนิษฐานว่า พระในนิกายแคทอลิกจากเวียดนามใต้เป็นผู้นำเข้ามาปลูก ส่วนในภาคเหนือ อาจจะนำเข้ามาจากพม่าด้าน แม่สาย จากนั้นจึงกระจายไปทั่วประเทศ นับว่ากาแฟมีการเดินทางที่ไกลมากข้ามมาจากอีกซีกโลกหนึ่งเลยทีเดียว

คนตรังเป็นคนช่างกิน คงไม่ใช่คำกล่าวที่เกินเลยไป  ชาวตรังสนใจการกิน  การอยู่   ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ดี เงินทองคล่องมือ จึงจับจ่ายใช้เก่ง ผู้ที่มาเยือนจึงได้ยินชื่อเสียงด้านการกินอยู่ ไม่มีถนนสายไหน ที่ไม่มีร้านกาแฟและร้านอาหาร ถนนทุกสายจึงเน้นเรื่องกินเข้าว่า พูดไปจะหาว่าโม้ คนตรังกิน 5-6 มื้อในแต่ละวัน เริ่มตั้งแต่เช้า สาย บ่าย เย็น ค่ำและดึก คนตรังจึงกินจริง – กินจัง


วัฒนธรรม กาแฟเมืองตรัง

               ร้าน “โกปี๊” ชื่อสำเนียงจีนปนปักษ์ใต้โดยนัยคือร้านกาแฟ แต่ที่มากกว่านั้น คือเป็นร้านแบบพันธุ์ทาง ที่จะขายกาแฟเป็นหลักและมีอาหารหนักทั้งบะหมี่ โจ๊ก ก๋วยเตี๋ยว ข้าวและติ่มซำ ประกอบอยู่ในร้านเดียวกัน ความพิเศษของร้านกาแฟในเมืองตรังก็คือ มีขนมและเครื่องเคียงมากมาย ถ้าคุณสั่งกาแฟแก้วเดียว อาหารอื่นๆ  จะระดมมาเต็มโต๊ะ ตั้งแต่ขนมจีบ ซาลาเปา ขนมประเภทนึ่งทอดปิ้ง ปาท่องโก๋ และที่ขาดไม่ได้คือ หมูย่างรถเด็ด หลายๆ คนงงกับสูตรการกินแบบนี้ กาแฟกับหมูย่างเข้ากันได้อย่างไร ผมก็ตอบไม่ถูก  ได้แต่บอกว่าให้ลองดูแล้วจึงจะติดใจ หลายๆ คนก็แปลกใจอีกนั่นแหละที่บอกว่าไม่ได้สั่ง แต่ทำไมของยังมากันเพียบ คุณกินเท่าไหร่ เขาก็คิดราคาเท่านั้น

            พูดถึงหมูย่างตรังในอดีตใช่จะหากันกินได้ง่ายๆ อย่างทุกวันนี้ ด้วยเพราะแตกต่างจากหมูหันหรือหมูอบอย่างสิ้นเชิง หมูย่างตรังมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว  หนังกรอบ รสชาติดีเยี่ยม  มีกลิ่นเครื่องเทศและสมุนไพรเจืออยู่บางเบา กรรมวิธียุ่งยากและซับซ้อน ใช้หมูขนาดเล็กคือ  30-40 กก.  ย่าง อบ ด้วยความร้อนสูงทั้งตัว จนน้ำหนักหาย ไปกว่าครึ่ง หมูย่างไม่ใช่จะอยู่แต่ตามร้านกาแฟอย่างเดียว  แต่กลับไปขึ้นโต๊ะตามงานต่างๆ  ทั้งงานแต่ง  งานตรุษ งานเลี้ยงแขกพิเศษ ไปจนถึงงานอวมงคลเช่นงานศพ ใครต่างก็ต้องการที่จะมาชิม จนจังหวัดต้องจัดเทศกาลให้ทุกปลายเดือน   
        
             ถ้าวัฒนธรรม   หมายถึง ระบบความสัมพันธ์ ความสัมพันธ์ที่เกิดจากอาหารการกิน ก็คงจะเอามาอธิบายวัฒนธรรมทางการกินของคนตรังได้   เพราะชาวตรังมีชาวจีนเข้ามาลงหลักปักฐาน ในเมืองไทยมากมาย การกินหลายมื้อของคนจีน  เป็นผลมาจากการเพาะบ่มทางวัฒนธรรมของคนจีนในเมืองตรังยุคบุกเบิกด้วยความที่เป็นกลุ่มคนจีนที่มาจากดินแดนโพ้นทะเล ร้านกาแฟ ได้กลายเป็นที่รวมกลุ่ม ปรึกษา หารือ เกื้อกูลกัน จากเคยจิบชาก็เปลี่ยนมาเป็นกาแฟ มีขนมนมเนยเป็นเครื่องเคียง  ความห่วงใยในสวัสดิภาพของผู้เป็นชนกลุ่มน้อยจึงมีสูง ทำให้เกิดการรวมกลุ่มกันบ่อยๆ  ตั้งแต่เช้า  สาย  บ่าย เย็น ดึกดื่น    ก็ยังหาอุบายพบปะกันอยู่ จนกลายมาเป็นวัฒนธรรมกาแฟในวันนี้  ซึ่งลูกหลานในปัจจุบันอาจจะไม่เคยรู้เลยว่า  การมาพบหน้ากันวันละหลายๆรอบมีที่มาอย่างไร แต่ที่แน่ๆมันได้กลายเป็นลักษณะเฉพาะและเป็นวิถีชีวิตที่มีสีสัน ต่อผู้ที่สนใจต่อวัฒนธรรมศึกษาอย่างยิ่ง

             กาแฟมื้อดึกมรดกวัฒนธรรมเมืองชายฝั่งทะเล
 ผู้คนมากมายจนสงสัยว่า เดี๋ยวนี้คนตรังกินกาแฟดึกขนาดนี้แล้วหรือ ได้คำอธิบายจากเพื่อนรักว่า วัฒนธรรมนี้น่าจะมาจากคน  กันตัง  ซึ่งกันตังอดีตอำเภอเมือง ในยุคการค้าขาย เรือเดินทะเลยังคึกคัก ชาวจีนจำนวนมาก ที่เข้ามาทำมาหากินกับท่าเรือแห่งนี้ ได้ก่อร่างวัฒนธรรมการกินมื้อดึก อันมีผลมาจากการเฝ้ารอเรือเข้าเทียบท่า ขนถ่ายสินค้าและค้าขาย   จับจ่ายกันตลอดคืน ร้านกาแฟจึงเติบโตตามด้วยมุ่งบริการผู้มีภาระค้าขายในเมืองท่าแห่งนี้ เมืองกันตังในอดีตจึงคึกคักตลอดทั้งคืน

             เห็นอะไรในร้านกาแฟ
สิ่งที่นักวิชาการด้านการสื่อสาร น่าจะลองศึกษากันดูในร้านโกปี๊ที่เมืองตรัง คือ การบอกข่าวแบบคลาสสิคที่ทรงประสิทธิภาพมากก็คือ ใบปิดประกาศงานศพ ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปในร้านกาแฟ ในทัศนะของผู้เขียนมองว่ามัน  คือบัตรเชิญที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็ว่าได้ ที่ได้บรรจุข้อความ ชื่อของผู้ตาย อายุเท่าไหร่ ตายด้วยสาเหตุใด ใครเป็นญาติก็บรรจุไว้หมด และจะไม่ส่งไปยังบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ข่าวนี้จะกระจายไปพร้อมกับผู้ที่มาร้านกาแฟ  มันจึงเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่เชื่อมเข้ากับสื่อบุคคลได้ดีมาก

             ความต่างนี้ได้ซ่อนเร้นคุณค่าทางวัฒนธรรมประเพณี ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเมืองตรังโดยแท้ จากข้อมูลที่พอมีอยู่ คะเนได้ว่า  จุดเริ่มต้นของแผ่นพิมพ์ประกาศงานฌาปนกิจ น่าจะเริ่มจากชาวจีนยุคแรกในเมืองตรัง   ที่ประกอบอาชีพค้าขายกับปลูกผัก ด้วยความเป็นเชื้อชาติพลัดบ้านเมืองจากโพ้นทะเล ทำให้คนจีนทั้งสองอาชีพ ต้องพบปะกันหรือส่งข้อความข่าวคราวถึงกัน ยิ่งมีการตายเกิดขึ้น ยิ่งต้องส่งข่าวหากันมากขึ้น  คล้ายกับว่าเป็นเสมือนญาติพี่น้องกัน ด้วยอาชีพที่ดิ้นรน การไปบอกด้วยตัวเองเป็นเรื่องยาก การบอกกล่าวจึงใช้การเขียนเรื่องราวปิดไว้ที่ร้านกาแฟ

ไม่มีความคิดเห็น: